ไหมอีรี่ (Eri silkworm, Samia ricini) มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นผีเสื้อกลางคืนในอันดับ Lepidoptera วงศ์ Saturniidae กินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร มีการเลี้ยงไหมอีรี่ในหลายประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอินเดีย มีเกษตรกรที่เลี้ยงไหมอีรี่กว่าแสนครอบครัว นับเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่รัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุน เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนและการว่างงานของประชาชน
สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาการเลี้ยงไหมอีรี่โดยกรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศ. ดร. สุธรรม อารีกุล และรศ. ดร. สมนึก วงษ์ทอง เป็นผู้พัฒนาการเลี้ยงและส่งเสริมให้เป็นอาชีพของเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่สูง แต่มีปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่หนาวจัด และการขาดพืชอาหารในบางช่วงของปี จากการที่หลายจังหวัดในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นแสนไร่ จึงเริ่มมีการส่งเสริมการเลี้ยงไหมอีรี่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลัง การเลี้ยงไหมอีรี่จึงเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ของเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ที่สามารถทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
รังไหมอีรี่เป็นเส้นใยประกอบด้วยสารfibroin (75-90%) ที่ถูกเคลือบด้วยสารsericin (5-20%) สารทั้งสองถูกขับออกมาจากต่อมไหม (silk gland) แล้วพ่นออกมาทางรูเล็กๆ ที่ปากของหนอนไหม โดยจะพ่นวนไปมาคลุมรอบตัว สารนี้เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวเป็นเส้นใยที่ประกอบขึ้นเป็นรัง รังไหมอีรี่มีสีขาวนวล รูปวงรียาวเรียวไปที่ปลาย 2 ข้าง เส้นใยจะสานกันหลวมกว่ารังไหมหม่อน ปลายรังข้างหนึ่งมีช่องเปิดให้ผีเสื้อออก ซึ่งต่างจากรังไหมหม่อนที่ปิดหมดทุกด้าน เส้นใยไหมอีรี่เป็นเส้นใยสั้นๆ (staple) ต่างจากไหมหม่อนที่ให้เส้นใยชนิดใยยาว (filament) การดึงเส้นออกจากรังไหมอีรี่ต้องใช้วิธีปั่น ไม่ได้ใช้วิธีสาวแบบไหมหม่อน การปั่นเส้นต้องลอกกาวเหนียวหรือสารserisin ที่เคลือบเส้นไหมออกก่อน ในปัจจุบันอุตสาหกรรมด้ายปั่นของไทยขาดแคลนวัตถุดิบมาก ไหมอีรี่อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของโรงงานด้ายปั่น ที่ต้องการวัตถุดิบธรรมชาติที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างตลาดสิ่งทอใหม่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
ที่มา: http://www.vcharkarn.com/varticle/42282
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น