อัลลาบั๊ม2

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

จรวดและยานอวกาศ

                 อวกาศอยู่สูงเหนือศีรษะขึ้นไปเพียงหนึ่งร้อยกิโลเมตร แต่การที่จะขึ้นไปถึงมิใช่เรื่องง่าย เซอร์ไอแซค นิวตัน นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้คิดค้นทฤษฎีเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกและการเดินทางสู่อวกาศเมื่อสามร้อยปี มาแล้ว ได้อธิบายไว้ว่า หากเราขึ้นไปอยู่บนที่สูง และปล่อยก้อนหินให้หล่นจากมือ ก้อนหินก็จะตกลงสู่พื้นในแนวดิ่ง เมื่อออกแรงขว้างก้อนหินออกไปให้ขนานกับพื้น (ภาพที่ 3)   ก้อนหินจะเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้ง (A) เนื่องจากแรงลัพธ์ซึ่งเกิดจากแรงที่เราขว้างและแรงโน้มถ่วงของโลกรวมกัน หากเราออกแรงมากขึ้น วิถีการเคลื่อนที่ของวัตถุจะโค้งมากขึ้น และก้อนหินจะยิ่งตกไกลขึ้น (B)   และหากเราออกแรงมากจนวิถีของวัตถุขนานกับความโค้งของโลก ก้อนหินก็จะไม่ตกสู่พื้นโลกอีก แต่จะโคจรรอบโลกเป็นวงกลม (C)    เราเรียกการตกในลักษณะนี้ว่า “การตกอย่างอิสระ” (free fall)  และนี่เองคือหลักการส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก

         หากเราเพิ่มแรงให้กับวัตถุมากขึ้นไปอีก เราจะได้วงโคจรเป็นรูปวงรี (D)  และถ้าเราออกแรงขว้างวัตถุไปด้วยความเร็ว 11.2 กิโลเมตรต่อวินาที  วัตถุจะไม่หวนกลับคืนอีกแล้ว  แต่จะเดินทางออกสู่ห้วงอวกาศ (E)   เราเรียกความเร็วนี้ว่า “ความเร็วหลุดพ้น” (escape speed)  และนี่คือหลักการส่งยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่น

ภาพที่ 1 หลักการส่งยานอวกาศ
หมายเหตุ: ในทางปฏิบัติเราไม่สามารถยิงจรวดขึ้นสู่อวกาศในแนวราบได้ เพราะโลกมีบรรยากาศห่อหุ้มอยู่ ความหนาแน่นของอากาศจะต้านทานให้จรวดเคลื่อนที่ช้าลงและตกลงเสียก่อน  ดังนั้นเราจึงส่งจรวดขึ้นสู่ท้องฟ้าในแนวดิ่ง แล้วค่อยปรับวิถีให้โค้งขนานกับผิวโลก เมื่ออยู่เหนือชั้นบรรยากาศในภายหลัง
จรวด (Rocket)
         เมื่อพูดถึงจรวด เราหมายถึงอุปกรณ์สำหรับสร้างแรงขับดันเท่านั้น หน้าที่ของจรวดคือ การนำยานอวกาศ ดาวเทียม หรืออุปกรณ์ประเภทอื่นขึ้นสู่อวกาศ  แรงโน้มถ่วง (Gravity) ของโลก ณ พื้นผิวโลกมีความเร่งเท่ากับ 9.8 เมตร/วินาที 2  ดังนั้นจรวดจะต้องมีแรงขับเคลื่อนสูงมาก เพื่อเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลก

         จรวดทำงานตามกฎของนิวตัน ข้อที่ 3 “แรงกริยา = แรงปฏิกิริยา”   จรวดปล่อยก๊าซร้อนออกทางท่อท้าย (แรงกริยา)  ทำให้จรวดเคลื่อนที่ไปข้างหน้า (แรงปฏิกิริยา) 




 
ภาพที่ 2 จรวดอารีอาน นำดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่วงโคจร


เราแบ่งประเภทของจรวดตามชนิดของ เชื้อเพลิงออกเป็น 2 ประเภท คือ
         • จรวดเชื้อเพลิงแข็ง  มีโครงสร้างไม่สลับซับซ้อน แต่เมื่อการเผาไหม้เชื้อเพลิงเกิดขึ้นแล้ว  ไม่สามารถหยุดได้
         • จรวดเชื้อเพลิงเหลว มีโครงสร้างสลับซับซ้อน เพราะต้องมีถังเก็บเชื้อเพลิงเหลว และออกซิเจนเหลว (เพื่อช่วยให้เกิดการสันดาป) ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง   และยังต้องมีท่อและปั๊มเพื่อลำเลียงเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์เพื่อ ทำการเผาไหม้  จรวดเชื้อเพลิงเหลวมีข้อดีคือ สามารถควบคุมปริมาณการเผาไหม้ และปรับทิศทางของกระแสก๊าซได้



ภาพที่ 3  จรวดเชื้อเพลิงเหลว และจรวดเชื้อเพลิงแข็ง


จรวดหลายตอน
         การนำจรวดขึ้นสู่อวกาศนั้นจะต้องทำการเผาไหม้เชื้อเพลิงจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเร่งมากกว่า 9.8 เมตร/วินาที2 หลายเท่า  ดังนั้นจึงมีการออกแบบถังเชื้อเพลิงเป็นตอนๆ   เราเรียกจรวดประเภทนี้ว่า “จรวดหลายตอน” (Multistage rocket)  เมื่อเชื้อเพลิงตอนใดหมด ก็จะปลดตอนนั้นทิ้ง เพื่อเพิ่มแรงขับดัน(Force) โดยการลดมวล (mass) เพื่อให้จรวดมีความเร่งมากขึ้น  (กฎของนิวตัน ข้อที่ 2: ความเร่ง = แรง / มวล)
ความแตกต่างระหว่างเครื่องบินไอพ่นและ จรวด
         เครื่องยนต์ของเครื่องบินไอพ่นดูดอากาศภายนอกเข้ามาอัดแน่น และทำการสันดาป (เผาไหม้) ทำให้เกิดแรงดันไปข้างหน้า จนปีกสามารถสร้างแรงยก(ความดันอากาศบนปีกน้อยกว่าความดันอากาศใต้ปีก) ทำให้เครื่องลอยขึ้นได้   ส่วนจรวดบรรจุเชื้อเพลิงและออกซิเจนไว้ภายใน เมื่อทำการสันดาปจะปล่อยก๊าซร้อนพุ่งออกมา ดันให้จรวดพุ่งไปในทิศตรงกันข้าม

         จรวดไม่ต้องอาศัยอากาศภายนอก  มันจึงเดินทางในอวกาศได้   ส่วนเครื่องบินต้องอาศัยอากาศทั้งในการสร้างแรงยก และการเผาไหม้










ภาพที่ 4   SR-71, X-15 และ Space Shuttle
         อากาศยานบางชนิดมีคุณสมบัติทั้งความเป็นจรวดและเครื่องบินในตัวเอง อย่างเช่น X-15, SR-71 และ กระสวยอวกาศ (Space Shuttle) หากดูอย่างผิวเผินเราแทบจะแยกแยะไม่ออกเลยว่า อากาศยานเหล่านี้คือ จรวด หรือเครื่องบินกันแน่ 
ยกตัวอย่าง เช่น

         • SR-71 มีรูปร่างคล้ายจรวด แต่เป็นเครื่องบินไอพ่นที่บินได้เร็วที่สุดในโลก มีความเร็วเหนือเสียง 3 เท่า
         • X-15 เป็นเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์จรวดที่บินได้เร็วที่สุดในโลก มีความเร็วเหนือเสียง 6.7 เท่า
         • กระสวยอวกาศ มีรูปร่างคล้ายเครื่องบินปีกสามเหลี่ยมโดยทั่วไป ทว่าเป็นยานอวกาศที่ติดตั้งเครื่องยนต์จรวดไว้ภายใน กระสวยอวกาศไม่ใช้ปีกเมื่ออยู่ในอวกาศ แต่ขับเคลื่อนและเปลี่ยนทิศทางด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็ก  ซึ่งอยู่รอบตัว (ภาพที่ 5)  ปีกของกระสวยอวกาศทำหน้าที่สร้างแรงต้านและแรงยก ในขณะที่ร่อนกลับสู่พื้นโลก



ภาพที่ 5   การปรับทิศทางของกระสวยอวกาศ


อุปกรณ์ที่จรวดนำขึ้นไป (Payload)
         ดังที่กล่าวไปแล้ว จรวดเป็นเพียงตัวขับเคลื่อนขึ้นสู่อวกาศ สิ่งที่จรวดนำขึ้นไปมีมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หรือภารกิจ ซึ่งอาจจะมีทั้งการทหาร สื่อสารโทรคมนาคมหรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

         • ขีปนาวุธ (Missile) เป็นคำที่เรียกรวมของจรวดและหัวรบ  เนื่องจากจรวดมีราคาสูง และมีพิกัดบรรทุกไม่มาก หัวรบที่บรรทุกขึ้นไปจึงมีขนาดเล็ก แต่มีอำนาจการทำลายสูงมาก เช่น หัวรบนิวเคลียร์

         • ดาวเทียม (Satellite) หมายถึง อุปกรณ์ที่ส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ถ่ายภาพ โทรคมนาคม ตรวจสภาพอากาศ หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

         • ยานอวกาศ (Spacecraft) หมายถึง ยานพาหนะที่โคจรรอบโลก หรือเดินทางไปยังดาวดวงอื่น  อาจจะมีหรือไม่มีมนุษย์เดินทางไปด้วยก็ได้ เช่น ยานอะพอลโล ซึ่งนำมนุษย์เดินทางไปดวงจันทร์

         • สถานีอวกาศ (Space Station) หมายถึง ห้องปฏิบัติการในอวกาศ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนให้มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ในอวกาศได้นานนับเดือน หรือเป็นปี  สถานีอวกาศส่วนมากถูกใช้เป็นห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการวิจัย ทดลอง และประดิษฐ์คิดค้นในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง สถานีอวกาศที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สถานีอวกาศนานาชาติ ISS   (International Space Station)




ภาพที่ 6  สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

สภาพแวดล้อมในอวกาศ
         อวกาศเป็นสภาวะไร้อากาศและแรงโน้มถ่วง ดังนั้นการเคลื่อนที่จึงไร้แรงเสียดทานและความเร่ง ยานอวกาศหรือนักบินอวกาศเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ด้วยการจุดจรวดขนาดเล็กและจุดจรวดด้านตรงข้ามด้วยแรงที่เท่ากันเมื่อต้องการจะหยุด(ภาพที่ 5)

         บนอวกาศเต็มไปด้วยรังสีคลื่นสั้นซึ่งมีพลังงานสูง ดาวเทียมและยานอวกาศอาศัยพลังงานเหล่านี้ด้วยการใช้เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์  อย่างไรก็ตาม รังสีคลื่นสั้นเหล่านี้มีอานุภาพในการกัดกร่อนสสาร ดังจะเห็นว่ายานอวกาศและดาวเทียมส่วนมากถูกห่อหุ้มด้วยโลหะพิเศษ สีเงิน หรือสีทอง   อุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในอวกาศถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุชนิดพิเศษจึงมีราคาแพงมาก




ภาพที่ 7   มนุษย์อวกาศสวมอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนที่ในอวกาศ

         บนพื้นผิวโลกมีบรรยากาศคอยทำหน้าที่กรองรังสีคลื่นสั้นที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต แต่ในอวกาศไม่มีเกราะกำบัง ในขณะที่นักบินอวกาศออกไปทำงานข้างนอกยาน พวกเขาจะต้องสวมใส่ชุดอวกาศ ซึ่งออกแบบมาเพื่อจำลองสภาพแวดล้อมที่อยู่บนโลก กล่าวคือ ปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะมีออกซิเจนให้หายใจ มีแรงดันอากาศเพื่อป้องกันมิให้เลือดซึมออกตามผิวหนัง และรังสีจากดวงอาทิตย์ (ภาพที่ 7)


 

ปวดท้องตรงไหนเป็นอะไรกันแน่

           อาการปวดท้องมักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอแต่ส่วนมากเราจะไม่ค่อยรู้สาเหตุว่าปวดเพราะอะไรทนได้ก็ทน แค่ถ้าทนไม่ได้ถึงจะกินยาแก้ปวด มูลนิธิหมอชาวบ้านจึงให้คำแนะนำว่า หน้าท้องแข็งเป็นดานกดแล้วเจ็บ หรือกดแล้วท้องยุบลงไป แต่เจ็บทันทีที่ปล่อยมือ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ปัสสาวะไม่ออกหรือถ่ายเป็นเลือด หน้าซีด เป็นลม ตัวเย็น เหงื่อออก ไม่รู้สึกตัว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายหรือข้อใดข้อหนึ่ง ต้องรีบไปหาหมอทันที

เราสามารถแบ่งบริเวณ ที่ปวดท้องได้เป็น 9 ส่วน คือ1. ชายโครงขวา คือตับและถุงน้ำดี           อาการที่พบมักจะกดแล้วเจอก้อนแข็งร่วมกับอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า อาจเป็นโรคเกี่ยวกับตับหรือถุงน้ำดี เช่น ตับอักเสบ ฝีในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ
2. ใต้ลิ้นปี่คือ กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ และกระดูกลิ้นปี่
          
ปวดเป็นประจำเวลาหิวหรืออิ่ม อาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะ
          
ปวดรุนแรงร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ
          
คลำเจอก้อนเนื้อค่อนข้างแข็งและมีขนาดใหญ่ อาจหมายถึงตับโต
           คลำได้ก้อนสามเหลี่ยมแบนเล็กๆ มักเป็นกระดูกลิ้นปี่
3. ชายโครงขวาคือ ม้าม ซึ่งมักจะคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณนี้
4. บั้นเอวขวาคือท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่
          
ปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติหรือถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นเพราะลำไส้ใหญ่อักเสบ
          
ปวดร้าวถึงต้นขา อาจเป็นนิ่วในท่อไต
          
ปวดร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น อาจเป็นกรวยไตอักเสบ
          
คลำเจอก้อนเนื้อ อาจเป็นไตโตผิดปกติหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่





5. รอบสะดือคือ ลำไส้เล็ก
           มักพบในโรคท้องเดินหรือไส้ติ่งอักเสบ(ก่อนจะย้ายมาปวดท้องน้อยขวา) แต่ถ้าปวดแบบมีลมในท้อง ก็อาจเป็นเพราะกระเพาะลำไส้ทำงานผิดปกติ
6. บั้นเอวซ้ายคือ ท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่(เหมือนข้อ 4)7. ท้องน้อยขวาคือ ไส้ติ่ง ท่อไต และปีกมดลูก
          
ปวดเกร็งเป็นระยะร้าวมาที่ต้นขา อาจเป็นเพราะมีก้อนนิ่วในกรวยไต
          
ปวดเสียดตลอดเวลา กดแล้วเจ็บมาก มักเป็นไส้ติ่งอักเสบ
          
ปวดร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น มีตกขาว มักเป็นเพราะปีกมดลูกอักเสบ
          
คลำแล้วเจอก้อนเนื้อ อาจเป็นก้อนไส้ติ่งหรือรังไข่ผิดปกติ8. ท้องน้อยคือ กระเพาะปัสสาวะและมดลูก
          
ปวดเวลาถ่ายปัสสาวะหรือถ่ายกะปริดกะปรอย มักเป็นเพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
          
ปวดเกร็งเวลามีประจำเดือน เป็นอาการปวดประจำเดือน แต่ในรายที่ปวดเรื้อรังในหญิงแต่งงานแล้วไม่มีบุตร อาจเป็นเนื้องอกในมดลูก
9. ท้องน้อยซ้ายคือ ปีกมดลูกและท่อไต
          
ปวดเกร็งเป็นระยะและร้าวมาที่ต้นขา มักเป็นนิ่วในท่อไต
          
ปวดร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น ตกขาว เป็นเพราะมดลูกอักเสบ
          
ปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติ อาจเป็นเพราะลำไส้ใหญ่อักเสบ
          
คลำพบก้อนร่วมกับอาการท้องผูกเป็นประจำ อาจเป็นเนื้องอกในลำ



ที่มา:  http://www.vcharkarn.com/varticle/42015

อยากไกลโรคอัลไซเมอร์

            หนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนในปัจจุบัน โรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม" เป็นโรคที่แพทย์ยอมรับว่า ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วยและคนรอบข้างอย่างมาก เพราะนอกจากอาการของโรคทั้งเรื่องลืมง่ายในเหตุการณ์ต่างๆที่เพิ่งผ่านไปไม่ นาน ปัญหาการนอนไม่หลับ ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องรำคาญใจแล้ว ญาติหรือคนใกล้ชิดยังต้องทนกับความจำแย่ๆของผู้ป่วยด้วย ซึ่งแพทย์เชื่อว่า เพราะเหตุนี้ผู้สูงอายุจึงกลายเป็นภาระของครอบครัวเพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหา เรื่องสมองเสื่อมและความจำขที่ถดถอยมากกว่าวัยอื่น


             จากผลการวิจัยการคัดกรองความจำในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 8,000 ตัวอย่าง ในพื้นที่ กทม.ของหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบาดวิทยาการทางจิตเวชศาสตร์และสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หากแยกตัวอย่างเป็นกลุ่มละ 10 คน 6 ใน 10 นั้นมีความบกพร่องด้านความจำเสี่ยงต่อหการเกิดภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ มูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงงจึงต้องเร่งให้ความรู้ทั้งสาเหตุและวิธีการป้องกัน ของโรคดังกล่าวอย่างจริงจัง ด้วยการจัดรณรงค์โครงการสร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ ต่อเนื่องและในปี 2554 ถือเป็นปีที่ 3

             สำหรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์นั้น ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบาดวิทยาฯ อธิบายว่า ที่เด่นๆ ได้แก่ การกินอาหารที่หวาน มัน เค็ม ทำให้มีไขมันเกาะที่เส้นเลือด ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ สมองจึงฝ่อและเสื่อมในที่สุด ซึ่งพบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ โดยผู้ป่วยเหล่านี้น่าห่วงมากหากสมองเสื่อมแล้วจะส่งผลต่อการรักษาโรค เรื้อรังที่เป็นอยู่ด้วย เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามรถให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการของโรคแก่แพทย์ได้ และบางครั้งจดจำช่วงเวลา ในการนัดพบกับแพทย์ การกินยาไม่ได้ทำให้สุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ชอบใช้ความคิดก็ถือว่าเสี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะสมองไม่เกิดการพัฒนา สาเหตุประการสุดท้ายที่สำคัญมากๆ แต่คนไม่ค่อยรู้ คือ เรื่องของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมภายนอก จึงไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อฝึกสมอง

ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ
             ส่วนวิธีการป้องกันนั้น ศ.พญ.นันทิกา บอกว่าทำได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังสมองตามวิธีที่เรียกว่า นิวโรบิคส์ (Neurobic Exercise) ซึ่งก็คือการพยายามทำกิจกรรมใหม่ๆ ด้วยการเชื่อมโยงการทำงานของประสาทการรับรู้ทั้ง 5 ซึ่งได้แก่การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัสให้ทำงานร่วมกัน เช่นหากถนัดมือขวา ก็ลองใช้มือซ้ายแปรงฟัน การเข้าไปในห้องที่คุ้นเคยโดยไม่เปิดไฟ และใช้การสัมผัสแทนการมอง ซึ่งออกกำลังสมองด้วยนิวโรบิคส์จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและกระตุ้นให้เซลล์ ของสมองในส่วนของการรับรู้ทั้ง 5 ส่วนยังคงอยู่ และทำงานได้ต่อเนื่อง

             "วิธีหลักๆที่ใช้ได้ในทุกเพศทุกวัย คือ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง เช่น รับประทานปลาที่มีสารโอเมก้า 3 มีอยู่ในปลาทะเล ออกกำลังกายวันละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายจะทำให้เกิดความเครียดเล็กน้อยต่อร่างกาย สมองจึงต้องการพลังงานมากขึ้น และปลดปล่อยสารเคมี ทำให้นูรอนในสมองแข็งแรงขึ้น และที่สำคัญควรฝึกใช้สมองมากๆ เช่น การเล่นเกมอย่าง หมากเก็บ ปาเป้า โยนห่วง เพื่อฝึกการกะระยะความแม่นยำ หรืออาจจะฝึกทักษะการวิเคราะห์ด้วยเกมสากลอย่าง ครอสเวิร์ด การคิดเลขง่ายๆ เช่น บวกลบคูณหารบ่อยๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองตลอดเวลา" ศ.พญ.นันทิกา กล่าวแนะนำ
นพ.ยุทธ โพธารามิก             นอกจากนี้การคิดในแง่บวกก็ถือว่าช่วยได้เช่นกัน อาทิ การควบคุมการทำงานของสมองให้ดี ด้วยการเชื่อมั่นว่าคุณมีความจำที่ดี ประการสุดท้ายที่ไม่ควรลืม คือ พยายามพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

             แต่เคล็ดลับที่นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิอัลไซเมอร์ฯ แม้ว่าบางคนอาจเห็นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่แพทย์ยืนยันแล้วว่าสามารถช่วยพัฒนาสมองได้ นั่นคือ การเล่นไพ่ตอง ไพ่นกกระจอก ไพ่ป๊อก ซึ่งบริหารสมองทั้งซีกซ้าย และซีกขวา เพื่อฝึกทักษะความคิด ความจำให้ดีขึ้น

             ส่วนคนที่มีคู่ การมีเพศสัมพันธ์ที่สมหวังอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นอีกวิธีช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน เพราะความสุขที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สารอะดรีนาลีนหลั่งมากขึ้นและทำให้สมองเปล่งปลั่งสดชื่นได้เช่นกัน





ที่มา: http://www.vcharkarn.com/varticle/42080

ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำ


ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำ
            The untold story of the Siamese Bala Shark

           
หากเอ่ยถึงปลาหางไหม้หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Bala shark คงจะมีนักเลี้ยงปลาน้อยรายเหลือเกินในโลกนี้ที่ไม่รู้จัก สำหรับคนรุ่นผม ที่โตขึ้นมาพร้อมๆกับโดเรมอน และอิ๊กคิวซัง ผมเชื่อว่าหางไหม้เป็นหนึ่งในปลาที่ทุกคนต้องเคยเลี้ยงมาบ้าง เพราะมันเป็นปลาที่มีรูปทรงเทห์และมีสีสันที่น่าสนใจ ในยุคนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน หางไหม้ที่เห็นคือปลาสีเงินๆครีบทุกครีบใสและมีขอบสีดำ ปลาที่เราเห็นในร้านตัวขนาดไล่ๆกัน ส่วนใหญ่แล้วมีขนาดสัก ๒ หรือ ๓ นิ้ว สภาพดี เลี้ยงง่าย และราคาถูก
            แต่ถ้าเขยิบขึ้นไปที่คนอีกรุ่นหนึ่ง ผู้คนในยุคบุกเบิกการเลี้ยงและส่งออกปลาสวยงามในแผ่นดินสยาม เรากำลังพูดถึงช่วงเวลาย้อนกลับไปราวๆ ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว ในสมัยที่ปลาหางไหม้ที่มีขาย เป็นปลาขนาด ๔ นิ้วขึ้นไป ปลาในตู้มีหลากหลายขนาด พวกมันตื่นกลัว ไม่คุ้นกับที่เลี้ยงแคบๆ ปลาหางไหม้ในยุคนั้นไม่ได้มีโคนครีบใสๆเหมือนปลาในยุคนี้ แต่มีโคนครีบสีเหลือง และมีขอบสีดำที่แคบกว่า พวกมันมีเกล็ดบนลำตัวสีเหลืองอ่อนๆ ปากมนทู่กว่าปลาในยุคปัจจุบัน ในยุคนั้นหางไหม้ไม่ได้มีมาขายตลอดทั้งปี แต่จะมีขายเฉพาะช่วงกลางและปลายฤดูฝนเท่านั้น ข้อสำคัญ ปลาพวกนี้เลี้ยงยาก และมีราคาแพงทีเดียว เมื่อเทียบกับค่าของเงินในสมัยนั้น
            ทำไมหางไหม้ในสองยุคถึงไม่เหมือนกัน?  หางไหม้ในยุคปัจจุบันเป็นปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ด้วยการผสมเทียมในที่ เลี้ยง พวกมันจึงมีขนาดเท่าๆกัน และเนื่องจากเกิดในที่เลี้ยง จึงคุ้นเคยกับที่อยู่เล็กๆ พวกมันจึงเลี้ยงง่ายกินง่าย และปรับตัวได้ดี มีเรื่องเล่ากันว่าปลาหางไหม้พวกนี้พ่อแม่พันธุ์เป็นปลาที่มาจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งเข้ามาในเมืองไทยหลายปีแล้ว

            ส่วนปลาหางไหม้ในยุค 2510นั้นเป็นปลาหางไหม้ที่จับจากธรรมชาติในประเทศไทย ปลาในยุคนั้นคนที่เคยสัมผัสและพอจะจำได้ ก็คงเป็นคนรุ่นอายุ ๖๐ บวกลบสัก ๕-๑๐ ปี ซึ่งอยู่ในแวดวงปลาสวยงาม หรือเป็นชาวบ้านที่จับปลาจากลุ่มน้ำธรรมชาติ ซึ่งถ้าหากจะเอ่ยถึงปลาหางไหม้ หลายคนจำได้และรู้จักดี ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยในอดีต มีรายงานว่าพบชุกชุมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากน้ำโพ บึงบอระเพ็ด จ.ชัยนาท นครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ รวมไปถึงแม่น้ำปิงและน่าน นอกจากนั้นยังมีรายงานพบในลุ่มแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมาก และมีบ้างไม่มากนักในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

            ในยุค 2510นั้น เป็นยุคที่ประเทศไทยเริ่มส่งออกปลาสวยงามไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ปลาหลักๆที่ได้รับความนิยมมีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดคือ ปลาทรงเครื่อง กาแดง และ ปลาหางไหม้ ซึ่งจัดเป็นปลาราคาสูงของไทย จากคำบอกเล่าของผู้ส่งออกปลาสวยงามในยุคนั้น ปลาทรงเครื่องและกาแดงนั้น จับกันมากในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ไล่ตั้งแต่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ลงมาทางอำเภอท่าม่วง และมาสิ้นสุดเอาแถวๆ อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี  ส่วนปลาหางไหม้นั้น จับกันมากในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และป่าสัก
หางไหม้ในอดีต
            ย้อนกลับไปในยุคที่ลุ่มแม่น้ำในประเทศไทยยังปลอดเขื่อน เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ พืชบกทั้งหลาย พวกหญ้า กก หรือแม้แต่ตอซังข้าว จะเริ่มเน่าเปื่อย กลายเป็นอาหารของสัตว์เล็กๆ ซึ่งจะกลายมาเป็นอาหารของพวกลูกปลาอีกทีหนึ่ง พ่อแม่ปลาจะตามกลิ่นน้ำใหม่เข้ามาวางไข่และผสมพันธุ์กันในพื้นที่น้ำท่วมเหล่านี้ น้ำหลากในยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีสิ่งก่อสร้างอย่างถนน หรือการถมที่ขวางการไหลของน้ำ น้ำหลากในยุคที่ผู้คนยังไม่ลืมว่านี่คือธรรมชาติของที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ขนาดใหญ่ น้ำที่ไหลบ่ามาจะหนุนเนื่องทำให้น้ำไหลหลาก ไม่นิ่งขัง  น้ำจะไม่เสีย พืชยืนต้นจะไม่ตาย โรคจะไม่ระบาด และคนก็อยู่ร่วมกับน้ำได้ น้ำจะนำพาเอาตะกอนดิน เอาแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ไร่นา เอาปลามาให้กินถึงใต้ถุนบ้าน ก่อนที่น้ำจะค่อยๆแห้งลงช่วงนั้น ลูกปลาต่างๆจะตามน้ำกลับลงไปสู่แม่น้ำสายหลัก

            ช่วงนี้เองเป็นช่วงที่เหมาะในการรวบรวมพันธุ์ปลา สำหรับพวกกลุ่มปลากาแดงและทรงเครื่องนั้น คุณวิฑูรย์ เทียนรุ่งศรี ซึ่งทางบ้านทำกิจการค้าส่งปลาสวยงามในนามของบริษัทไวท์เครน อควาเรียม มายาวนานและในปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักกันดีในวงการปลาสวยงาม เล่าย้อนความหลังในยุคนั้นให้ฟังว่า ในช่วงต้นฤดูฝนหรือประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งเปิด  พอกลับมาจากโรงเรียน คุณวิฑูรย์ก็จะไปหาซื้อปลาพวกนี้กับคุณแม่ วิธีการจับในสมัยนั้น ใช้ฟางข้าวมัดเป็นกำใหญ่ๆ แล้วลอยไว้ตามทุ่งน้ำท่วม โดยโยงเชือกผูกหลักไว้ไม่ให้ไหลหนี ทิ้งไว้ไม่นานลูกปลาจะเข้าไปหลบอาศัยอยู่ ก็ใช้สวิงขนาดใหญ่ช้อนรวบขึ้นมาทั้งกอ ปลาที่ได้จะเป็นลูกปลาขนาดเล็กมาก คือตัวประมาณเมล็ดข้าวสาร ปะปนกันมาหลายชนิด แต่ปลาที่รับซื้อเป็นหลักจริงๆจะมีแค่ ๓ ชนิดคือ ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง และปลาลูกผึ้ง

            สำหรับ ๒ ชนิดแรกนั้นเป็นปลาราคาแพงในสมัยนั้น เรียกว่าขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารนี้ ราคาทั่วๆไปจะอยู่ที่ประมาณ ๑๐ สตางค์ ในปีใดที่มีน้อยๆ หรือในช่วงต้นและปลายฤดูราคาอาจขึ้นไปถึง ๒๕ สตางค์ ส่วนปลาขนาดใหญ่ที่มีขนาด ๒ นิ้วขึ้นไปนั้นในยุคหลังที่ปลาเริ่มมีน้อยในธรรมชาติตัวหนึ่งๆ อาจมีราคาสูงถึงตัวละ ๑๐ บาท ซึ่งนับว่าเป็นปลาที่แพงมากในสมัยเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ส่วนปลาลูกผึ้งนั้นเป็นปลาถูก ตวงขายกันเป็นกระป๋องนม แต่ก็ถือเป็นปลาหลักที่มีความต้องการมากเช่นกัน

            ในยุคที่ปลากาแดงและทรงเครื่องมีราคาแพงนั้น ปลาอีกชนิดที่หาได้ยากกว่าและมีราคาแพงกว่าก็คือปลาหางไหม้ ปลาชนิดนี้คุณวิฑูรย์เล่าว่ามีราคาเฉลี่ยประมาณ ๕๐ สตางค์ หรือในบางฤดูที่หายากอาจจะถึง ๑ บาท ปลาหางไหม้ จะมีฤดูกาลจับในช่วงปลายฤดูฝนในช่วงที่น้ำเริ่มลดลง หลังจากที่น้ำหลากท่วมทุ่ง ชาวประมงจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าลี่ เป็นการวางตาข่ายดักขวางทางไหลลงของน้ำ เพื่อดักปลาที่กำลังย้อนกลับลงสู่แม่น้ำสายหลัก นอกจากนั้นก็ยังจับปลาหางไหม้ด้วยอุปกรณ์จับปลาอื่นๆ เช่น ยอ ล้อมกร่ำ และโพงพาง โดยการประมงนี้เป็นการจับปลาเพื่อนำมากิน และทำการแยกปลาหางไหม้ไว้เพื่อขายเป็นปลาสวยงามเพิ่มมูลค่า ปลาที่จับได้ในช่วงนี้มีขนาดตั้งแต่ ๔ นิ้วขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ โดยปลาหางไหม้ขนาดประมาณ ๔ นิ้วนี่น่าจะเป็นปลาที่เกิดในต้นฤดูฝนของปีนั้นๆ

            อีกท่านที่เคยได้สัมผัสกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยคือ คุณลุงพิบูลย์ ประวิชัย ในวัย ๗๖ ปี ท่านเป็นหุ้นส่วนของบริษัท สมพงษ์ อควาเรียม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามของไทยในยุคเริ่มต้นเช่นกัน ลุงพิบูลย์ได้กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงแจ่มชัด เหมือนเรื่องราวเพิ่งเกิดมาไม่นานนักว่า เริ่มรวบรวมและส่งออกปลาหางไหม้ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๙๘ แต่ในปีแรกยังไม่ทราบแหล่งที่แน่นอนจึงได้ไม่เยอะนัก มาได้เป็นจำนวนมากก็ในปีถัดไป คือในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ที่ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ชาวประมงในแหล่งนี้ จะทำการกั้นลี่ในแม่น้ำป่าสัก เพื่อดักจับปลาที่จะลงมาหลังจากฤดูน้ำหลาก โดยแต่เดิมปลาหางไหม้จะถูกโยนทิ้งกลับลงแม่น้ำไปเนื่องจากมีรสขมทานไม่อร่อย บริษัทจึงเข้าไปรับซื้อปลาดังกล่าว เริ่มจากตัวละ ๑ บาท ในยุคที่ปลาอื่นๆกิโลกรัมละ ๑ บาท ซึ่งถือว่าให้ราคาดีมาก ในช่วง ๒-๓ ปีแรกนั้น บริษัทสมพงษ์ อควาเรียม ส่งออกปลาหางไหม้ปีละ ๗,๐๐๐ ถึง ๘,๐๐๐ ตัว โดยจะส่งเฉพาะปลาขนาดประมาณ ๓-๕ นิ้ว ใหญ่สุดไม่เกินหนึ่งคืบ ตัวขนาดใหญ่จะไม่รับซื้อเนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและอยากให้ชาว บ้านปล่อยปลาเหล่านี้ให้ไปสืบพันธุ์ต่อ  โดยตัวใหญ่ที่สุดที่จับได้นั้นมีขนาดประมาณ ๑๓ นิ้ว ซึ่งได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านหลายปี

            ในยุคนั้นคุณลุงพิบูลย์เล่าว่าเครื่องมือประมงชนิดล้างผล่านเริ่มมีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะพวกระเบิด ซึ่งทำให้ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลงมากและสำหรับปลาหางไหม้นั้นก็ลดจำนวนลงทุกปี จนกระทั่งปีสุดท้ายที่บริษัทฯได้ปลาหางไหม้จากธรรมชาติเพื่อส่งขายคือปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยในปีนั้นได้ปลาไม่ถึงร้อยตัว และในปีต่อๆมา ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็กลายเป็นปลาหายากที่จับกันได้ปีหนึ่งไม่กี่ตัว และหายไปในที่สุด

            ปัญหาของปลาหางไหม้อีกข้อคือพวกมันเป็นปลาที่เปราะบาง เกล็ดหลุด ครีบแตก และตกใจตื่นกลัวง่าย นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่กระโดดได้เก่งมาก (มีรายงานว่าปลาหางไหม้สามารถกระโดดได้สูงถึงสองเมตรจากผิวน้ำ)  สรุปคือพวกมันเป็นปลาที่มีอัตรารอดต่ำกว่าปลาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จากปลานับหมื่นตัวที่ผ่านรังปลาไปนั้น คงมีอีกหลายเท่าที่ตายไปก่อนที่จะถึงมือผู้รับซื้อ ปลาหางไหม้จึงเป็นปลาที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับปลาอื่นๆ โดย ศาสตราจารย์ วิทย์ ธารชลานุกิจ ซึ่งคลุกคลีกับปลาสวยงามของไทยมายาวนาน ได้ให้ข้อมูลว่า ปลาหางไหม้ในตลาดปลาสวยงามของไทยนั้น ราคาขึ้นเร็วมาก เรียกว่าแทบจะขึ้นไปเท่าตัวในทุกๆปี เริ่มจาก ๒๕ สตางค์ เป็น ๕๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท ๑๐๐ บาทและในช่วงที่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยถูกยกสถานะให้เป็นปลาที่ใกล้สูญ พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น เศรษฐีนักสะสมปลาสมัยนั้น ซื้อ/ขายกันที่ราคากว่า ๒,๐๐๐ บาทเลยทีเดียว อาจารย์เปรียบเทียบว่า หางไหม้ในสมัยนั้นก็เหมือนปลาเสือตอในสมัยนี้ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเหลือน้อยมากในธรรมชาติแต่ก็ยังมีผ่านเข้ามาในตลาดปลาสวยงามบ้าง และขายกันในราคาที่สูงมาก

            ความเปราะและขี้ตกใจของปลาชนิดนี้ ไม่ได้อยู่แค่เพียงที่ขั้นตอนจับเท่านั้น ข้อมูลนี้ผู้เขียนได้มาจาก Max Gibbsเจ้าของร้านขายปลาสวยงามขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะอังกฤษ ซึ่งปีนี้มีอายุเกือบ ๗๐ ปีแล้ว ปู่แม๊กเล่าให้ฟังเกี่ยวกับปลาหางไหม้จากประเทศไทยที่เขานำเข้าในยุคเริ่ม แรกไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องแรก คือเขาจำได้แม่นยำว่าปลาหางไหม้จากประเทศไทยในยุคแรกนั้นเป็นปลาที่มีครีบสี เหลืองขลิบดำ ไม่ใช่ปลาครีบใสเหมือนในปัจจุบัน เขายังจำได้อีกว่าปลาที่ได้รับมักเป็นปลาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ คละขนาดกัน ไม่ได้ตัวเท่ากันหมดเหมือนในยุคนี้ และที่ปู่จำได้แม่นที่สุดคือปลาชนิดนี้ตายง่ายเหลือเกิน เขาเล่าว่า ในตอนแรกๆปลาที่นำเข้ามา มีอัตราตายสูงมาก ในตอนหลังเขาจึงพัฒนาวิธีขึ้นมา ซึ่งก็ได้เล่าให้ผมฟังคร่าวๆว่า เมื่อรับปลามาจากสนามบินแล้ว ต้องรีบนำมาไว้ในห้องมืด ปรับอุณหภูมิ เปิดไฟสลั่ว แล้วจึงค่อยๆเปิดถุง ถ่ายปลาลงภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วจึงค่อยๆหยดน้ำของที่ร้านลงไปทีละหยดๆ ในขณะเดียวกันก็ค่อยเปิดไฟให้สว่างขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าใช่เวลาเป็นวัน กว่าที่จะค่อยๆปรับปลาหางไหม้ในยุคนั้นให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของร้านและนำออกขายได้ ซึ่งปู่แม๊กบอกว่าเมื่อปรับตัวได้แล้ว ปลาหางไหม้ก็เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายชนิดหนึ่ง เขายังเล่าอีกว่า ในยุคนั้นปลาหางไหม้จากประเทศไทยไม่ได้มีส่งขายทั้งปี แต่จะมีมาเป็นฤดูกาลเท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย? 
            นั่นคือเรื่องเล่าเมื่อกว่า ๔๐  ปีที่แล้ว ข้อมูลที่ตรงกันอย่างหนึ่งของคนที่เคยเห็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็คือ ปลาชนิดนี้มีครีบสีเหลืองขลิบดำ (บางท่านบอกว่าเป็นสีแดงหมากสุกด้วยซ้ำ) ต่างจากปลาในยุคปัจจุบันที่เชื่อว่าเป็นปลาที่ได้มาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีฐานครีบใสหรือขาวขุ่นๆ คำถามที่น่าสนใจคือ เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย?  ทำไมพวกมันถึงหายไปกันหมด ทั้งจากในธรรมชาติและในที่เลี้ยง?

            จากการสอบถามชาวประมงรุ่นเก่าในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและข้อมูลจากรังปลาในยุคนั้น พวกเขาระบุว่าปลาหางไหม้ เริ่มมีน้อยลงหลังจากที่จับกันได้สัก ๕ –๑๐ ปี ในยุคที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วคือราวๆปีพ.ศ. ๒๕๑๐ บวก/ลบ ประมาณ ๕ ปี ที่น่าสนใจคือตอนที่จำนวนลดลง ปลาหางไหม้ไม่ได้ค่อยๆลด ไม่ได้จับได้น้อยลงเรื่อยๆ แต่ปลาลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบและหายไปจากสารบบอย่างน่าแปลกใจภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี

            เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้?  ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบนิเวศของปลาน้ำจืดอย่าง อ.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ บอกว่า ถ้าย้อนกลับไปดูยุคนั้น จะเห็นว่าเป็นยุคที่กำลังมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลักๆในประเทศไทยเกือบทุกสาย ทั้งปิง น่าน เจ้าพระยา แควน้อย แควใหญ่ และแม่กลอง การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยล้วนเกิดขึ้นในช่วง ระหว่างปี ๒๔๖๗ ถึงประมาณ ๒๕๒๘ (รายละเอียดตามตาราง)

            ในช่วงนั้น น้ำที่เคยหลากท่วมทุ่งกลับถูกกักไว้ในเขื่อน เมื่อขาดทุ่งน้ำท่วมปลาก็ขาดแหล่งทำรัง วางไข่ และ ขาดแหล่งอนุบาลของลูกปลาวัยอ่อน ปลาน้ำจืดของประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วงนั้น ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มปลาที่หายากมากในธรรมชาติของบ้านเราในปัจจุบัน เช่น  ปลากาแดง ทรงเครื่อง หมูอารี ซิวสมพงษ์ และหางไหม้  เมื่อปลาขนาดเล็กลดลง กลุ่มปลาล่าเหยื่อก็หายไป อย่างเช่นในลุ่มเจ้าพระยานั้น ปลาเทพา และ ปลาฝักพร้า ซึ่งเป็นปลาล่าเหยื่อ ได้หายไปจากลุ่มน้ำอย่างถาวร  ซึ่งสมมุติฐานนี้ก็ไปตรงกับข้อมูลในหนังสือ “ปลาไทย”ซึ่งเขียนโดย คุณวันเพ็ญ มีนกาญจน์ และตีพิมพ์โดยกรมประมงในปีพ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งเขียนไว้เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของปลาหางไหม้ว่า “หลังจากการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท (ในปีพ.ศ.๒๔๙๙) ปรากฏว่าปริมาณปลาหางไหม้ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงมาก จนถึงปัจจุบันไม่เคยปรากฏว่าพบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกเลย เข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว”

            อย่างไรก็ดี ดร. ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาไทยอีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า หากนำจำนวนตัวอย่างของปลาหางไหม้ในพิพิธภัณฑ์ของไทย เปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่นๆที่เก็บตัวอย่างในยุคเดียวกัน จะเห็นว่าตัวอย่างปลาหางไหม้มีอยู่น้อยมาก ซึ่งทำให้คาดเดาได้ว่าปลาหางไหม้นั้น แต่เดิมแม้แต่ในธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่น ก็เป็นปลาที่มีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่ปลาหางไหม้ อาจจะต้องการปัจจัยเฉพาะอะไรสักอย่าง ซึ่งมีอยู่น้อยในธรรมชาติเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ เมื่อมนุษย์ได้ทำลายตรงนั้นไปแล้ว ปลาหางไหม้ จึงไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป
           
อย่างไรก็ดีข้อมูลนี้ขัดกับข้อมูลที่ได้จากคุณลุงพิบูลย์ ประวิชัย ซึ่งระบุว่าปลาหางไหม้นับเป็นปลาที่มีมากชนิดหนึ่งในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ประมาณว่าในจำนวนปลาที่จับได้จากลี่จำนวน ๑๐๐ ตัวจะมีปลาหางไหม้ปนอยู่ถึง ๑๐ ตัว

            ที่น่าสนใจคือ แม้แต่หางไหม้ในประเทศอินโดนีเซียเอง ทั้งบนเกาะชวาและบอร์เนียวก็มีจำนวนลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยในลุ่มน้ำ  Batang Hari บนเกาะชวานั้นมีรายงานว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนในลุ่มน้ำ Danau Sentarum บนเกาะบอร์เนียวก็มีรายงานว่าเป็นปลาหายากและลดจำนวนลงอย่างมากมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน แต่จากรายงานระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าปลาลดจำนวนลงเนื่องจากการจับขายเพื่อเป็นปลาสวยงาม และการเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในปีเดียวกันนั้น ทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสียด้วย

            เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าเหตุใดการที่น้ำไม่ท่วมทุ่งหรือน้ำเสีย หรือปัจจัยใดที่มีผลกับปลาหางไหม้มากกว่ากัน หรือทำไมปัจจัยเหล่านี้จึงมีผลกับปลาหางไหม้มากกว่าปลาชนิดอื่นๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกมันมีวัฏจักรชีวิตที่ต้องพึ่งพาทุ่งน้ำท่วมมากกว่า ปลาชนิดอื่นๆ หรือมีความสามารถในการต้านทานน้ำเสียและสารเคมีน้อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ?  หรืออาจจะเป็นเพราะประชากรของปลาหางไหม้ในธรรมชาติแต่เดิมก็ไม่ได้มีมากมาย อะไรอยู่แล้ว และเมื่อถูกจับรวบรวมเป็นปลาสวยงามหลายๆปีติดต่อกัน ปลาจึงหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าจะลองคิดดูให้ดี ปลาที่หายากหรือสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบัน หลายชนิดเป็นปลาที่เคยถูกจับขายเป็นจำนวนมากในยุคก่อน เช่นปลากาแดง ทรงเครื่อง หมูอารี และหางไหม้? มองในอีกแง่หนึ่งหรือเป็นเพราะการจับปลาหางไหม้ในยุคนั้นเน้นการจับปลาที่ลง จากทุ่งน้ำท่วม เมื่อน้ำไม่ท่วม วิธีการจับที่เคยใช้ได้ผลมาหลายปีจึงไม่สามารถจับปลาหางไหม้ได้อีก?  หรือจริงๆแล้วหางไหม้ยังมีอยู่ แต่ในปัจจุบันเครื่องมือประมงที่สามารถจับหางไหม้ได้กลายเป็นเครื่องมือผิด กฏหมายไปหมดแล้วจึงไม่สามารถจับหางไหม้ได้อีก?  ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะสายไปแล้วที่จะหาคำตอบ

ปลาหางไหม้อินโดฯเข้ามาในประเทศไทยในยุคไหน?
            คำถามต่อมาก็คือ ในยุคที่ปลาในธรรมชาติกำลังลดจำนวนลง สวนทางกับความต้องการปลาสวยงามเหล่านี้จากประเทศไทยที่กำลังเพิ่มขึ้นนั้น อุตสาหกรรมการส่งออกปลาสวยงามในตอนนั้นปรับตัวอย่างไร?  สำหรับปลาหางไหม้ คุณวิฑูรย์ เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อปลาจากไทยเริ่มจับได้ลดลง ทางคุณพ่อจึงเริ่มขยับขยายหาปลาจากประเทศอื่นมาเสริม ซึ่งก็หาได้จากประเทศอินโดนีเซีย ในยุคนั้นประเทศไทยยังเปิดให้มีการนำเข้าและส่งออกปลาน้ำจืดอย่างเสรี การนำเข้าปลาจากต่างประเทศจึงทำได้โดยง่าย ซึ่งข้อดีอีกอย่างของปลาหางไหม้จากประเทศอินโดนีเซียก็คือ ปลาจากอินโดฯจะมีเข้ามาในช่วงที่ปลาในประเทศไทยขาดตลาดพอดี ซึ่งคงจะเป็นเพราะ ประเทศไทยนั้นอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร ฤดูกาลจึงตรงกันข้ามกันพอดี ฤดูจับจึงอยู่คนละช่วงเวลาของปี

            การปรับตัวของผู้ส่งออกในยุคนั้นอีกวิธีคือความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลาเหล่านี้ขึ้นเองในที่เลี้ยง ซึ่งในจังหวะที่ปลาในธรรมชาติกำลังลดลงนั้น เทคโนโลยีการผสมเทียมก็เข้ามาในบ้านเราพอดี จากข้อมูลที่มีอยู่ประเทศไทยประสพความสำเร็จในการผสมเทียมปลาครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งปลาชนิดแรกนั้นก็คือปลาสวาย ต่อมาจึงมีการนำเทคนิคดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับปลาสวยงาม ซึ่งคนแรกๆที่ทำสำเร็จก็คือ คุณสำรวย มีนกาญจน์ ซึ่งกรุณาให้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์  คุณสำรวยเล่าว่าเริ่มผสมเทียมพวก ปลากาแดง และทรงเครื่องในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ในยุคนั้น นอกจากจำนวนปลาที่ลดลงแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลากาแดงก็คือ การค้นพบปลากาแดงจากแหล่งนครพนม จากเดิมที่ปลากาแดงจะถูกจับจากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งปลาที่แม่กลองนี้จะมีลำตัวออกสีเทาและมีครีบและหางสีส้ม ในขณะที่ปลาจากนครพนมกลับมีลำตัวสีดำขลับและมีครีบและหางสีแดงเข้ม เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า แต่ปลากาแดงที่จับได้จากนครพนม มีขนาดใหญ่เกินกว่าความต้องการของตลาดและจับได้น้อย จึงเกิดความพยายามที่จะผสมเทียมปลากาแดงจากนครพนมขึ้นมาจนสำเร็จในที่สุด 

          คุณสำรวยเล่าว่า ในยุคที่เราเริ่มผสมเทียมปลาสวยงามได้นั้น ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็ลดจำนวนลงจนเกือบจะหมดไปอยู่แล้ว ประมาณว่าในยุคนั้นเหลือปลาสายพันธุ์ไทยแท้ๆ อยู่ในฟาร์มไม่เกิน ๑๐๐ ตัว และได้มีความพยายามที่จะผสมเทียมปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จ จนอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ประสพความสำเร็จในการผสมเทียมปลาหางไหม้จากประเทศ อินโดนีเซีย ในขณะที่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็ค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำ มารู้ตัวอีกทีพวกมันก็หมดไปเสียแล้ว
พบเพื่อพรากจา เพื่อไม่เจอ            เป็นเรื่องน่าเสียดายเหลือเกินที่เทคโนโลยีการผสมเทียมนั้นคลาดกับปลาหาง ไหม้สายพันธุ์ไทยไปเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง เพราะในทางวิชาการ ยังมีการพบตัวอย่างปลาหางไหม้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖  จากคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งนำคณะโดย อ.ประจิตร วงศ์รัตน และมีตัวอย่างจากแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม โดย ธงชัยและคณะ ในปีพ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใหม่ที่สุดของปลาหางไหม้ในประเทศไทยเท่าที่ผมค้นเจอ นอกนั้นตัวอย่างที่พบในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมประมง ส่วนใหญ่จะเป็นตัวอย่างยุคที่เก็บโดย ดร. Huge M. Smithชาวอเมริกัน เจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) คนแรกของเมืองไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลไทยและทำการสำรวจปลาไทยในหลายลุ่มน้ำ โดยตัวอย่างปลาหางไหม้ของ ดร.สมิท นั้นมีไล่ตั้งแต่แม่น้ำน่านช่วงก่อนถึงปากน้ำโพ ในจังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท และอยุธยา รวมไปถึงในแม่น้ำป่าสักบริเวณใต้เขื่อนพระราม ๖ (บางครั้งก็เรียกว่าเขื่อนท่าหลวง เนื่องจากตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าหลวง จังหวัดลพบุรี) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๖ –๒๔๖๘ และมีอีก ๒ ชุดซึ่งเก็บโดยนายโชติ สุวัตถิ เจ้าหน้าที่กรมประมง จากแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี และอยุธยา ในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ แต่ที่น่าสนใจและอยากจะเอ่ยถึงที่สุดคือในวิทยานิพนธ์ของคุณ สมเดช  ศรีโกมุท ซึ่งสำรวจปลาจากเครื่องมือประมงโพงพางเสาหลักในเขตจังหวัดอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ในรายงานฉบับนั้นมีปลาน้ำจืดที่หายากมากในปัจจุบันของประเทศไทยอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาหวีเกศ ปลายี่สกไทย และ ปลาหางไหม้ ถ้าใครเจอปลาทั้ง ๔ ชนิดในยุคนี้พร้อมกันในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนในวิทยานิพนธ์ คงได้ช๊อคสลบกันบ้าง เพราะในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปลาเสือตอลายใหญ่ จะมีรายงานบ้างปีสองปีได้ตัวหนึ่ง ถึงแม้ว่าปลายี่สกไทยจะยังพบบ้างในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและแม่โขง แต่ในลุ่มเจ้าพระยานั้นหายไปนานมากแล้ว และปลาที่หายไปเลยอย่างไม่หวนกลับไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำไหนในประเทศไทยก็คือ ปลาหวีเกศและปลาหางไหม้นอกจากรายงานและตัวอย่างทางวิชาการแล้ว รายงานการพบปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยตัวสุดท้ายนั้นเป็นของ

            คุณกิตติพงศ์ จารุธานินทร์ แห่งร้านแม่น้ำ ซึ่งค้าขายปลาจากธรรมชาติในประเทศไทยมาหลายสิบปี คุณกิตติพงศ์ เล่าให้ ผมฟังว่า ในสมัยเด็กๆ ปลาหางไหม้ตัวแรกที่เห็นนั้นอยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นปลาที่ขายอยู่ในร้าน ANA Supplyซึ่งเป็นร้านขายปลาใหญ่ อยู่แถวๆด้านตรงข้ามกับห้างมาบุญครองในปัจจุบัน ในตอนนั้นจำได้แม่นยำว่าปลาหางไหม้ราคาตัวละ ๑๐๐ บาท เป็นเงินที่เยอะมากสำหรับเด็กประธมในสมัยนั้น แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการพบปลาหางไหม้ตัวสุดท้าย ซึ่งคุณกิตติพงศ์เล่าว่า ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นช่วงที่ตระเวนจับปลาขนาดใหญ่เพื่อนำมาส่งให้กับบ่อตกปลาที่เปิดขึ้นเยอะมากในยุคนั้น วิธีการหนึ่งที่คุณกิตติพงศ์ใช้ในการหาปลา คือการเหมาบ่อหรือร่องสวนเก่าๆ เพื่อวิดน้ำแล้วนำปลาขนาดใหญ่ที่ค้างตามบ่อเหล่านั้นไปขาย และหนึ่งในจุดที่ได้ปลาเยอะก็คือ ตามร่องสวนส้มเก่าของเขตบางมด ซึ่งร่องสวนเหล่านี้จะมีการผันน้ำเข้ามาจากคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ในการผันน้ำหรือในกรณีที่เกิดน้ำท่วมนั้น ปลาจากแม่น้ำก็จะหลุดเข้ามาอาศัยและเติบโตอยู่ในร่องสวน โดยร่องสวนเหล่านี้มักจะมีปลาขนาดใหญ่ๆ โดยเฉพาะปลากระโห้ขนาดหลายสิบกิโล ซึ่งเป็นปลาที่เป็นเป้าหมายหลัก แต่ในการวิดน้ำครั้งหนึ่งในสวนส้มขนาดใหญ่ริมคลองราชบูรณะ ในปีพ.ศ. ๒๕๒๙ นั้นคุณกิตติพงศ์ จับได้ปลาหางไหม้ขนาดความยาวเกือบฟุตตัวหนึ่ง ซึ่งจากลักษณะที่บรรยายให้ฟังนั้น ตรงกับลักษณะปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย เป็นที่น่าเสียดายที่ปลาตัวดังกล่าวบอบช้ำมากจากการจับและตายลงในวันรุ่ง ขึ้น โดยที่คุณกิตติพงศ์ก็ไม่ได้ถ่ายภาพปลาตัวนั้นไว้ ถ้าหากปลาหางไหม้ตัวดังกล่าวเป็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยจริง ก็อาจจะเป็นปลาหางไหม้ตัวสุดท้ายที่มีรายงานของประเทศไทย  โดยเจ้าของสวนเล่าให้ฟังว่า มีความเป็นไปได้มากที่ปลาตัวดังกล่าวจะหลุดเข้ามาอาศัยอยู่ในร่องสวนตั้งแต่ ปีพ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งเป็นปีที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหลากท่วมรุนแรง  

หางไหม้ไทย กับ หางไหม้อิเหนา
            ที่ผ่านมาถึงแม้ปลาหางไหม้จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในประเทศไทย แต่ผมก็ยังใจชื้นที่ยังมีปลาที่นำมาจากประเทศอินโดนีเซียให้เรายังเพาะ เลี้ยงและขยายพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน แต่คำถามที่ยังคาใจก็คือ ตกลงปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย กับของประเทศอินโดนีเซียมันเป็นชนิดเดียวกันหรือเปล่า?  ข้อนี้นักมีนวิทยาชั้นแนวหน้าของไทยทุกท่านที่ผมได้มีโอกาศคุยด้วยยืนยันว่า “ต่างแน่นอน”

            ข้อแรก ในปลาขนาดใหญ่ปลาของไทยมีริมฝีปากที่หนา และมีปากบนทู่สั้นกว่าปลาจากประเทศอินโดนีเซีย
            ข้อสอง คือปลาของไทยมีขอบครีบสีเหลือง  และมีขอบสีดำบางกว่าปลาหางไหม้อิเหนา โดยเฉพาะที่ครีบท้อง ที่ปลาในยุคปัจจุบันบางตัวมีสีดำเกือบทั้งหมด ปลาหางไหม้จากไทยจะมีสีดำแค่ไม่เกินครึ่งของความกว้างครีบเท่านั้น

            เรื่องปากนั้นสามารถพิสูจน์ได้ด้วยรายงานและตัวอย่าง ซึ่งเท่าที่เห็นตัวอย่างขนาดใหญ่ก็เห็นว่ามีหน้าทู่สั้นกว่าจริงๆ แต่สี เป็นจุดที่ผมข้องใจที่สุด เพราะตัวอย่างปลาหางไหม้ของไทยที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้นก็เก่าเต็มทน ตัวปลาก็สีซีดไปตามกาลเวลา ภาพสีทีพอมียืนยันว่าเป็นปลาหางไหม้ไทยขณะยังมีชีวิตอยู่มีเพียงภาพเดียว ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ.๒๕๑๖ นั้นแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนพอสมควรว่าปลามีหางและครีบสีเหลือง นอกจากนั้นเกล็ดบริเวณหัวยังมีสีเหลืองอีกด้วย และอีกภาพคือภาพในหนังสือปลาไทย ซึ่งจัดพิมพ์โดย กรมประมง ในปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ภาพปลาหางไหม้ภาพนี้เก่าและเหลืองทั้งภาพ เลยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วปลาหางเหลืองด้วยหรือเปล่า ที่น่าสนใจคือภาพนี้ดูเก่ากว่าภาพอื่นๆในหนังสือเล่มเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นภาพเก่าของปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเช่นกัน และอีกจุดที่น่าสนใจคือปลาในภาพนี้ หน้าสั้นมู่ทู่ เหมือนกับในภาพวาดของ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) ช่างวาดภาพปลาในยุคเริ่มก่อตั้งกรมประมงผู้ช่วยของ ดร. สมิท ซึ่งวาดไว้ในช่วงปีพ.ศ.๒๔xxซึ่งมีหน้ามู่ทู่ ต่างจากปลาในยุคปัจจุบันค่อนข้างชัดเจน ซึ่งผู้เขียนเอง เห็นภาพปลาที่หลวงมัศยจิตรการวาดไว้ในคราวแรก ยังนึกแปลกใจว่าทำไมปลาหางไหม้ตัวนี้ถึงหน้ามนเหลือเกิน ตราบเมื่อมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายจึงพอจะเข้าใจ ซึ่งก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพถ่ายในหนังสือ “ปลาไทย”ดังกล่าวเป็นภาพเก่าของปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยหรือไม่ ที่น่าเสียดายคือ ผู้เขียนเข้าใจว่า ภาพต้นฉบับของหลวงมัศยจิตรการที่วาดปลาหางไหม้ไว้นั้น เป็นภาพสี แต่ที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ภาพปลา”ของกรมประมงที่จัดพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๔๙๓ และอีก ๔ ครั้งต่อมา รวมไปถึงเล่มที่พิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงมัศยจิตร การในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ นั้น กลับเป็นภาพขาวดำ จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพที่ลงสีไว้นั้นปลามีหางสีเหลืองหรือไม่ อันนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าภาพต้นฉบับ อยู่ที่ไหนสักแห่งในกรมประมง ถ้ามีใครอ่านบทความนี่แล้วพอจะทราบว่าภาพต้นฉบับอยู่ที่ไหน จะรบกวนแจ้งมาก็จักเป็นพระคุณยิ่ง

            แต่สีของหางปลา ใครที่เลี้ยงปลามานานก็รู้ว่ามันเปลี่ยนกันได้ โดยเฉพาะปลาจากธรรมชาติที่กินอาหารต่างจากปลาในที่เลี้ยง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต่างจากในที่เลี้ยง โอกาสที่จะมีหางหรือตัวสีเหลืองไม่ใช่เรื่องแปลก ดูอย่างปลาตะเพียนทองหรือปลาตะพาก ในธรรมชาติมีเกล็ดสีทองอร่าม แต่ในตู้เลี้ยงอย่างไรก็ไม่ได้สีทองแบบนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ว่าหางสีเหลืองของปลาหางไหม้ในยุคนั้นเป็นเพราะว่าเป็นปลาจากธรรมชาติมากกว่า เลี้ยงไปสักพักเดียวก็ใสๆขุ่นๆเหมือนปลาหางไหม้สมัยนี้  คนที่จะตอบได้ คือคนที่เคยเลี้ยงปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเป็นเวลานานๆ ผู้เขียนอีเมลไปถามปู่แม๊คที่อังกฤษอีกครั้ง ซึ่งปู่ก็ยืนยันว่าปลาหางไหม้จากไทย ไม่ได้หางเหลืองเฉพาะตอนที่เพิ่งส่งมาเท่านั้น แต่ยิ่งเลี้ยงยิ่งอยู่นานคุ้นตู้สภาพดีหางก็จะยิ่งเหลือง อีกท่านที่ยืนยันคือ คุณสำรวย มีนกาญจน์ ที่ยืนยันว่าหางไหม้สายพันธุ์ไทยนั้นมีหางและครีบเหลืองเหมือนปลาซิวควายหางไหม้(Rasbora tornieri)เลยเทียว

            เมื่อมีหลายท่านยืนยันว่าปลาหางไหม้ไทยมีหางสีเหลืองแบบนี้ ผู้เขียนจึงไปเดิมด้อมๆมองๆตามร้านขายปลาหวังใจว่าอาจจะเจอปลาที่มีหาง ครีบ และหัวเหลืองตามคำบอกเล่าตัวที่ใกล้เคียงว่า “เหลือง”ที่สุดก็คือตัวในภาพที่นำมาให้ชมกันนี่แหล่ะครับ ลองเปรียบเทียบดูกับปลาตัวสีธรรมดาในภาพเดียวกันจะเห็นว่าแตกต่างเห็นได้ชัดทีเดียว

            น่าเสียดายที่บทสรุปว่าปลาหางไหม้ไทยกับปลาหางไหม้จากประเทศอินโดนีเซียเป็นปลาคนละชนิดกันหรือไม่อย่างเป็นทางการนั้น กลับกลายเป็นผลงานของชาวสิงคโปร์และชาวสวิสไป โดยในเอกสารชื่อ Belantiocheilos ambusticauda,a new and possibly extinct species of cyprinid fish from Indochinaโดย Heok Hee Ng และ Maurice Kottelat นั้นได้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานของปลาหางไหม้ไทย ซึ่งรวมไปถึงปลาที่เคยมีรายงานพบในเขมร เวียตนาม ไทย และ มาเลเซีย ในส่วนที่เป็นทวีปใหญ่ โดยแยกลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาไทยกับปลาอิเหนาจากเกาะบอร์เนียวและสุมาตรา จากความแตกต่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่ให้กับปลาหางไหม้ของไทยว่า Balantiocheilos ambusticauda  ชื่อวิทยาศาสตร์นี้เป็นภาษาลาติน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “หางไหม้”เช่นกัน  ในขณะที่ปลาหางไหม้จากทางอินโดนีเซียนั้นก็ยังใช้ชื่อเดิมคือ B. melanopterus ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาหางไหม้ที่ใช่กันมาแต่ดั้งเดิม

            เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วที่ผมเคย(หลง)ดีใจว่าปลาหางไหม้ยังไม่สูญพันธุ์ก็เป็นอันว่าดีใจเก้อไป เพราะปลาในที่เลี้ยงที่มีอยู่เยอะแยะมากมายในปัจจุบันกลับเป็นปลาจากทางอินโดฯเสียหมด(หรือเปล่า?) ในขณะที่ปลาในธรรมชาติของประเทศไทยนั้นก็ไม่พบมานานเต็มทนแล้ว
 
ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(อินโดจีน)สูญพันธุ์ไปแล้วจริงหรือ?             อ่านมาถึงตรงนี้ผมมั่นใจว่านี่คำถามที่กำลังเกิดขึ้นในใจของทุกคน ถ้าจะหากันจริงๆ  ที่แรกก็คือในตู้ของพวกเรานี่   แหล่ะ เป็นไปได้หรือไม่ ที่มีบางฟาร์มใช่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเป็นพ่อแม่พันธุ์มาแต่ดั้งเดิม?  รบกวนท่านผู้อ่านลองหาดูถี่ ว่ามีหางไหม้จากฟาร์มไหนที่มีหน้าทู่ๆหางเหลืองๆหรือไม่ อีกแหล่งก็คือในธรรมชาติ แหล่งน้ำที่ยังอาจจะมีปลาหางไหม้เหลืออยู่ก็คือ

            ๑. ประเทศเขมรในตงเลสาป หรือทะเลสาปเขมรนั้น เป็นแหล่งที่มีปลาน้ำจืดชนิดใกล้เคียงกับปลาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก และยังเคยมีรายงานพบปลาหางไหม้ด้วยในอดีต ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีรายงานที่ยืนยันของปลาชนิดนี้ แต่เราต้องยอมรับว่า สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำในฝั่งประเทศเขมรนั้นยังมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าในประเทศไทยมาก จึงยังมีหวังว่า ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งใต้ทะเลสาปเขมรยังมีปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(อินโดจีน) ซ่อนอยู่
            ๒. ประเทศเวียตนาม มีรายงานที่ไม่ยืนยันจากแม่น้ำไซง่อน และแม่น้ำโขงตอนล่าง เมื่อเร็วๆนี้เอง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการพบปลา หรือเป็นการอ้างอิงต่อมาจากข้อมูลเก่า
            ๓.  อีกแห่งที่เคยมีรายงานพบปลาหางไหม้(มีตัวอย่างขนาดใหญ่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และมีชนิดปลาใกล้เคียงกับปลาน้ำจืดในลุ่มแม่น้ำแม่กลองของไทยคือแม่น้ำปาหัง ในประเทศมาเลเซีย แม่น้ำแห่งนี้ถึงแม้จะอยู่ใต้ลงไปในคาบสมุทรมลายูแต่ก็มีพันธุ์ปลาน้ำจืด ใกล้เคียงกับลุ่มน้ำแม่กลองอย่างน่าประหลาดใจ เช่น ปลายี่สกไทย ปลาตะเพียนสมพงษ์ และ ปลาหางไหม้ ผู้เขียนเข้าใจว่าสภาพธรรมชาติในแม่น้ำปาหังยังดีอยู่พอสมควร เพราะเพื่อนที่ไปเที่ยวเมื่อ ๒ ปีที่แล้วยังเห็นมีการจับปลายี่สกไทยเพื่อเป็นอาหารขายกันในตลาดอยู่ ซึ่งแสดงว่าสภาพแม่น้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ความหวังว่าจะมีปลาหางไหม้ของอินโดจีนเหลืออยู่จึงเป็นไปได้เช่นกัน
            ๔. ในลุ่มน้ำยมที่จังหวัดสุโขทัย ลุ่มน้ำใหญ่สายเดียวของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่กั้นนั้น ก็ยังเป็นแหล่งที่มีน้ำท่วมทุ่งอยู่มาก และเป็นแหล่งที่ยังมีการทำการประมงปลาน้ำจืดกันอยู่มากเช่นกัน เป็นไปได้ไหมที่ปลาหางไหม้อาจจะยังเหลืออยู่ แต่ด้วยเครื่องมือประมงที่เปลี่ยนไป เช่น โพงพางลี่ และกร่ำในปัจจุบันเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฏหมายทำให้ไม่สามารถจับปลาหางไหม้ ได้ และหรืออาจจะมีการจับได้บ้างแต่ขาดการสำรวจจากนักวิชาการจึงไม่มีรายงานปลาหางไหม้ในยุคปัจจุบัน?
            ๕. แม่น้ำแม่กลอง ชาวประมงท้องถิ่นบางคนยังบอกว่าจับปลาหางไหม้ขนาดใหญ่ได้นานๆที แต่ไม่ได้สนใจเนื่องจากคิดว่าเป็นปลาหางไหม้เหมือนกับตามฟาร์ม น่าสนใจว่าปลาที่จับได้นั้นเป็นปลาเพาะ(ปลาจากประเทศอินโดนีเซีย)ที่หลุดลงไป หรือเป็นปลาหางไหม้ดั้งเดิมของไทย ผู้เขียนยังไม่เห็นตัวอย่างจึงยังไม่กล้าสรุป

            เรื่องนี้ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่ตามหาหางไหม้สายพันธุ์ไทยที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่ที่ไหนสักแห่งเท่านั้น แต่ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม บ้านของปลา ให้คงอยู่ต่อไป  ที่ผ่านมาเราโชคดีมาก ที่การพัฒนาแหล่งน้ำในประเทศไทยโดยไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น ทำให้ปลาสูญพันธุ์ไปเพียงไม่กี่ชนิด แต่โครงการแล้วโครงการเล่าที่ถาโถมลงสู่แหล่งน้ำ ก็ทำให้ปลาใช้น้ำเป็นบ้านได้ยากขึ้นทุกวัน

            เรื่องราวของปลาหางไหม้ที่บันทึกไว้ในคราวนี้ เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ที่ผมดีใจที่ได้มีโอกาสจารึกไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำของคนในยุคนั้น ผมอยากให้มันเป็นบทเรียนที่สอนให้เรารู้ว่าธรรมชาติเปราะบางและเข้าใจยาก เกินกว่าที่มนุษย์สักคนจะอธิบายได้ ผมหวังว่าเราคงได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของผู้ คนในยุคปัจจุบันที่การรุกรานธรรมชาติรุนแรงกว่าในอดีตมากมายนัก วันนี้อาจจะสายไปเสียแล้วสำหรับปลาหางไหม้ แต่กับปลาน้ำจืดอื่นๆที่ยังเหลืออยู่ พวกเขาก็กำลังนับถอยหลังอยู่เช่นกัน

            ผมหวังว่าผมหรือรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ต้องมีใครมานั่งเขียนเรื่องราวแบบนี้ ถึงปลาไทยชนิดอื่นๆอีก


ภาพปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(Belantiocheilos ambusticauda) จากหนังสือเก่าของประเทศนอร์เวย์ ภาพนี้น่าจะเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดของหางไหม้พันธุ์ไทยที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ภาพปลาหางไหม้วาดโดยหลวงมัศยจิตรการ ในช่วงปีพ.ศ.๒๔๕๐ บวกลบประมาณ ๑๐ ปี แสดงลักษณะปลาหางไหม้ไทยว่ามีหน้าสั้นทู่อย่างชัดเจน

ภาพปลาหางไหม้จากหนังสือ“ปลาไทย” ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมประมงในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ภาพนี้เหลืองเก่ากว่าภาพอื่นๆในหนังสือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาพนี้เป็นภาพปลาหางไหม้เก่าเก็บมาจากยุคก่อน ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือปลาตัวในภาพมีปากสั้นทู่คล้ายภาพวาดของหลวงมัศยจิตรการ
ภาพปลาหางไหม้ ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ.๒๕๑๖
ตัวอย่างปลาหางไหม้ไทยจาก พิพิธภัณฑ์ ม.เกษตรศาสตร์
ฉลากข้างขวด
ปลาหางไหม้สายพันธุ์จากประเทศอินโดนีเซีย (B. melanopterus) ที่มีขายในตลาดปลาสวยงามบ้านเราในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.vcharkarn.com/varticle/42274

สเตรียรอยด์คืออะไร

                สเตียรอยด์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างจากต่อมหมวกไต ซึ่งสเตียรอยด์ที่ถูกสร้างขึ้นมีหลักๆ อยู่ 2 ชนิด คือ คอร์ติโซล (cortisol) และ อัลโดสเตอโรน (aldosterone)


            คอร์ติโซล จะถูกหลั่งออกมามากที่สุดในตอนตื่นนอน และน้อยที่สุดในตอนนอนหลับ เมื่อร่างกายมีภาวะเครียดเกิดขึ้น เช่น มีไข้ มีบาดแผล ได้รับการผ่าตัด หรือมีการออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งคอร์ติโซลเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยควบคุมภาวะเครียดหรือ ความกดดันเหล่านั้น นอกจากนี้สเตียรอยด์ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายในการบรรเทาอาการอักเสบควบคุมสมดุลของเกลือแร่และน้ำ รวมถึงมีบทบาทต่อเมตาบอลิซึ่มของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน             ส่วนอัลโดสเตอโรนทำหน้าที่ควบคุมสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย คือโปแตสเซียมและโซเดียม หากมีอัลโดสเตอโรนหลั่ง ออกมามากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายขับโปแตสเซียมออกมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรงและทำให้มีความดันโลหิตสูงได้
            
สำหรับสเตียรอยด์ที่ใช้เป็นยานั้น เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค รวมถึงใช้ทดแทนในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนดังกล่าวได้ สเตียรอยด์มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคมาก บางครั้งจำเป็นต้องใช้เป็นอันดับแรก เช่น การรักษาโรค SLE การแพ้ยา เป็นต้น
 สเตียรอยด์ยังมีการใช้ในผู้ที่มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เพื่อกดภูมิคุ้มกันและเกิดการยอมรับอวัยวะผู้อื่นได้ดีขึ้น  นอกจากนี้สเตียรอยด์ยังมีการใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาอื่นๆ แล้วไม่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น รักษาโรคข้ออักเสบที่รุนแรงควบคุมไม่ได้ด้วยยาทั่วไป แต่ถ้าสงสัยว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ห้ามใช้สเตียรอยด์โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้น
              รักษาโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง ควบคุมด้วยยาอื่นไม่ได้ผล เช่น ยาต้านฮีสตามีนหรือยาขยายหลอดลม และควรใช้ในระยะเวลาสั้นใช้ในรูปยาทาเฉพาะที่ในการรักษาโรคผิวหนัง เพื่อลดอาการอักเสบและยับยั้งอาการคัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการรักษาที่สาเหตุดัง นั้นเมื่อหยุดยาโรคอาจกลับมาเป็นอีกถ้าต้นเหตุยังคงอยู่
เนื่องจากสเตียรอยด์มีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกระบบ การใช้สเตียรอยด์จึงอาจนำไปสูอันตรายมากมาย ที่สำคัญได้แก่
            การติดเชื้อ - สเตียรอยด์ขนาดสูงมีผลกดภูมิต้านทานของร่างกาย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราได้ง่าย
           เกิดแผลในกระเพาะอาหาร - บางรายงานพบว่าสเตียรอยด์ทำให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น มีผลต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้บางลง และยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ทดแทนเนื้อเยื่อเก่าที่หลุดไป
           
ยับยั้งการเจริญเติบโตในเด็ก - การใช้สเตียรอยด์ต้องใช้อย่างระมัดระวังในเด็ก และไม่ควรใช้ติดต่อกันทุกวัน
เนื่องจากสเตียรอยด์มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย
            ทำให้กระดูกผุ - การใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้กระดูกผุได้
            ผิวหนังบาง - สเตียรอยด์ในรูปของยาทาภายนอก มีผลทำให้ผิวหนังบาง
           
เกิดลักษณะ Cushings syndrome -
การใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการบวม ขนดก ผิวเข้มขึ้น เป็นต้น

            อันตรายจากยาสเตียรอยด์ ส่วนมากมักเกิดจากการใช้ยาผิดขนาด การใช้โดยไม่มีความจำเป็นหรือการใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น รับประทานยาตอนท้องว่าง ใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น นี้เองที่ต้องพึงระวังในการใช้ยาโดยเฉพาะยาลูกกลอนที่มักมีส่วนผสมของสเตียรอยด์




ที่มา: http://www.vcharkarn.com/varticle/41934

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการนอน

            ช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง บางคนอาจจะลืมรักษาสุขภาพเพราะเพลินกับการเฮฮาปาร์ตี้มากไป ฉะนั้น การที่ได้รับรู้ความสำคัญเกี่ยวกับการพักผ่อน โดยเฉพาะการนอนหลับ จึงน่าจะช่วยสะกิดเตือนให้ผู้รักสุขภาพทั้งหลาย ระมัดระวังในช่วงแห่งการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไม่มากก็น้อย และยิ่งเป็นคุณผู้หญิงแล้วละก็ การอดนอนคู่มากับหน้าตาและผิวพรรณโดยตรง เพราะเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการนอนนี้ เครื่องสำอางเอสเต ลอเดอร์ เป็นผู้รวบรวมมาเผยแพร่

           การนอน คือ เวลาที่ร่างกายผลิตโปรตีนเพิ่มขึ้น ซึ่งคือการสร้างเซลล์ผิว กระบวนการเสริมการผลิตโปรตีน จะเป็นการฟื้นบำรุงเนื้อเยื่อและเซลล์ผิว ซึ่งจะช่วยเสริมการฟื้นบำรุงผิวนั่นเอง

           การนอน มีส่วนสำคัญในกระบวนการความจำ สมาธิ และการฟื้นบำรุงจากการถูกทำร้ายของเซลล์ผิวของร่างกายระหว่างวัน การอดนอนอย่างต่อเนื่องจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วน, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ และโรคติดเชื้อต่างๆ

           ฮอร์โมนความเครียดที่มากเกินไป ที่เกิดจากการนอนไม่เพียงพอ อาจทำให้การผลิตคอลลาเจนของผิวทำงานช้าลง

           การอดนอน อาจส่งผลให้การไหลเวียนเส้นเลือดไม่ดี ทำให้เกิดอาการตาบวม หรือเกิดถุงใต้ตาได้

           การหลับใน ในทุกขั้น มีผลโดยตรงต่อการแอนติออกซิแดนต์ ซึ่งมีผลต่อการเกิดผิวร่วงโรยก่อนวัย

           การฟื้นบำรุงเนื้อเยื่อ ก็เกิดขึ้นในช่วงการนอนเช่นกัน รวมถึงการฟื้นสภาพผิวจากการทำร้ายในระหว่างวันจากแสงยูวี การพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงเป็นการช่วยให้ผิวฟื้นบำรุงตัวเองอย่างเต็มที่

           อุณหภูมิปรกติของร่างกายของเราไม่ใช่ 37 องศาตลอดเวลาอย่างที่เข้าใจกัน สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรงดี เวลานอนในช่วงกลางคืนอุณหภูมิร่างกายจะลดลงต่ำที่สุดในช่วงเวลา 04.00-05.00 น.

           อุณหภูมิการนอนและร่างกายจะมีผลกระทบโดยตรงจากปฏิกิริยาของแสงแดดและความมืดในวงจรของแต่ละวัน ที่มีต่อเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในสมอง ความมืดทำให้เมลาโทนินเพิ่มขึ้นและอุณหภูมิของร่างกายลดลง ทำให้นอนหลับง่ายขึ้น

           มนุษย์มีการนอนโดยเฉลี่ยน้อยกว่าสัตว์ตระกูลลิงอย่าง ชิมแปนซี, กระรอก หรือบาบู อยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งสัตว์พวกนั้นมีการนอนโดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมง
           ช่วง REM ของการนอน เกิดขึ้นประมาณ 2 ชั่วโมงต่อคืน โดยปรกติแล้วจะเริ่มต้นหลังจากหลับไปแล้วประมาณ 90 นาที

           เด็กวัยรุ่นต้องการการพักผ่อนมากพอๆ กับเด็กเล็กๆ คือประมาณ 10 ชั่วโมง ในขณะที่คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีต้องการน้อยที่สุด คือประมาณ 6 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่ที่มีอายุ 25-55 ปี

           การนอนประมาณ 8 ชั่วโมงถือว่ากำลังดีที่สุด

 ที่มา:http://www.vcharkarn.com/varticle/42061



 

ผักผลไม้หลายสี

           ผักและผลไม้มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อร่างกาย จะให้วิตามินและเกลือแร่เป็นหลัก มีเส้นใยอาหาร และสารหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพิ่มภูมิต้านทานโรค ควรกินผัก ผลไม้สดทุกวันอย่างเพียงพอและหลากหลายวันละอย่างน้อย 5 ขีด หรือครึ่งกิโลขึ้นไป  จะช่วยป้องกันและลดการเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยควรกินผัก ผลไม้หลากหลายสี เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากคุณสมบัติของสารในผักสีต่างๆ ที่แตกต่างกัน


            สีเขียว ได้แก่ ผักบุ้ง ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักคะน้า แตงกวา กะหล่ำปลี ใบชะพลู ใบทองหลาง ฯลฯ ประโยชน์ ให้สารคลอโรฟิลล์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์ถูกทำลายขจัดฮอร์โมน อันเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม            สีเหลือง-ส้ม ได้แก่ ส้มทุกชนิด มะละกอเหลือง แครอท ฟักทอง มันเทศ สับปะรด ฯลฯ ประโยชน์ ให้สารเบต้าแคโรทีน ฟลาโวนอยส์ ช่วยรักษาสุขภาพของหัวใจ หลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงสายตา
            สีแดง
ได้แก่ มะเขือเทศ พริกแดง แตงโม มะละกอ เมล็ดทับทิมฯลฯ ประโยชน์ ให้สารไลโคปีน ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ลดไขมันในเลือด เพิ่มการเผาผลาญไขมัน
            สีน้ำเงิน-ม่วง
ได้แก่ กะหล่ำสีม่วง มะเขือม่วง ลูกหว้า ชมพู่มะเหมี่ยว ดอกอัญชัน หอมแดงฯลฯ ประโยชน์ ให้สารแอนโทไซยานิน ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ยับยั้งเชื้ออีโคไลในช่องทางเดินอาหาร (อาหารเป็นพิษ)
            สีขาว-น้ำตาล
ได้แก่ กระเทียม หัวไชเท้า ถั่วเหลืองทุกชนิด  ลูกเดือย ขิง ข่า งาขาว  ฯลฯ ประโยชน์ ให้สารแอนริซิน สร้างเซลล์ให้แข็งแรง ยับยั้งการเกิดเนื้องอก ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก ต้านการอักเสบ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ลดปริมาณไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน รักษาระบบภูมิคุ้มกัน
            "ใส่ใจกินผักผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ ร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนำชุมชนสุขภาพดี"  


ที่มา: http://www.vcharkarn.com/varticle/42265