อัลลาบั๊ม2

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำ


ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำ
            The untold story of the Siamese Bala Shark

           
หากเอ่ยถึงปลาหางไหม้หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Bala shark คงจะมีนักเลี้ยงปลาน้อยรายเหลือเกินในโลกนี้ที่ไม่รู้จัก สำหรับคนรุ่นผม ที่โตขึ้นมาพร้อมๆกับโดเรมอน และอิ๊กคิวซัง ผมเชื่อว่าหางไหม้เป็นหนึ่งในปลาที่ทุกคนต้องเคยเลี้ยงมาบ้าง เพราะมันเป็นปลาที่มีรูปทรงเทห์และมีสีสันที่น่าสนใจ ในยุคนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน หางไหม้ที่เห็นคือปลาสีเงินๆครีบทุกครีบใสและมีขอบสีดำ ปลาที่เราเห็นในร้านตัวขนาดไล่ๆกัน ส่วนใหญ่แล้วมีขนาดสัก ๒ หรือ ๓ นิ้ว สภาพดี เลี้ยงง่าย และราคาถูก
            แต่ถ้าเขยิบขึ้นไปที่คนอีกรุ่นหนึ่ง ผู้คนในยุคบุกเบิกการเลี้ยงและส่งออกปลาสวยงามในแผ่นดินสยาม เรากำลังพูดถึงช่วงเวลาย้อนกลับไปราวๆ ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว ในสมัยที่ปลาหางไหม้ที่มีขาย เป็นปลาขนาด ๔ นิ้วขึ้นไป ปลาในตู้มีหลากหลายขนาด พวกมันตื่นกลัว ไม่คุ้นกับที่เลี้ยงแคบๆ ปลาหางไหม้ในยุคนั้นไม่ได้มีโคนครีบใสๆเหมือนปลาในยุคนี้ แต่มีโคนครีบสีเหลือง และมีขอบสีดำที่แคบกว่า พวกมันมีเกล็ดบนลำตัวสีเหลืองอ่อนๆ ปากมนทู่กว่าปลาในยุคปัจจุบัน ในยุคนั้นหางไหม้ไม่ได้มีมาขายตลอดทั้งปี แต่จะมีขายเฉพาะช่วงกลางและปลายฤดูฝนเท่านั้น ข้อสำคัญ ปลาพวกนี้เลี้ยงยาก และมีราคาแพงทีเดียว เมื่อเทียบกับค่าของเงินในสมัยนั้น
            ทำไมหางไหม้ในสองยุคถึงไม่เหมือนกัน?  หางไหม้ในยุคปัจจุบันเป็นปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ด้วยการผสมเทียมในที่ เลี้ยง พวกมันจึงมีขนาดเท่าๆกัน และเนื่องจากเกิดในที่เลี้ยง จึงคุ้นเคยกับที่อยู่เล็กๆ พวกมันจึงเลี้ยงง่ายกินง่าย และปรับตัวได้ดี มีเรื่องเล่ากันว่าปลาหางไหม้พวกนี้พ่อแม่พันธุ์เป็นปลาที่มาจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งเข้ามาในเมืองไทยหลายปีแล้ว

            ส่วนปลาหางไหม้ในยุค 2510นั้นเป็นปลาหางไหม้ที่จับจากธรรมชาติในประเทศไทย ปลาในยุคนั้นคนที่เคยสัมผัสและพอจะจำได้ ก็คงเป็นคนรุ่นอายุ ๖๐ บวกลบสัก ๕-๑๐ ปี ซึ่งอยู่ในแวดวงปลาสวยงาม หรือเป็นชาวบ้านที่จับปลาจากลุ่มน้ำธรรมชาติ ซึ่งถ้าหากจะเอ่ยถึงปลาหางไหม้ หลายคนจำได้และรู้จักดี ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยในอดีต มีรายงานว่าพบชุกชุมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากน้ำโพ บึงบอระเพ็ด จ.ชัยนาท นครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ รวมไปถึงแม่น้ำปิงและน่าน นอกจากนั้นยังมีรายงานพบในลุ่มแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมาก และมีบ้างไม่มากนักในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

            ในยุค 2510นั้น เป็นยุคที่ประเทศไทยเริ่มส่งออกปลาสวยงามไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ปลาหลักๆที่ได้รับความนิยมมีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดคือ ปลาทรงเครื่อง กาแดง และ ปลาหางไหม้ ซึ่งจัดเป็นปลาราคาสูงของไทย จากคำบอกเล่าของผู้ส่งออกปลาสวยงามในยุคนั้น ปลาทรงเครื่องและกาแดงนั้น จับกันมากในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ไล่ตั้งแต่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ลงมาทางอำเภอท่าม่วง และมาสิ้นสุดเอาแถวๆ อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี  ส่วนปลาหางไหม้นั้น จับกันมากในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และป่าสัก
หางไหม้ในอดีต
            ย้อนกลับไปในยุคที่ลุ่มแม่น้ำในประเทศไทยยังปลอดเขื่อน เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ พืชบกทั้งหลาย พวกหญ้า กก หรือแม้แต่ตอซังข้าว จะเริ่มเน่าเปื่อย กลายเป็นอาหารของสัตว์เล็กๆ ซึ่งจะกลายมาเป็นอาหารของพวกลูกปลาอีกทีหนึ่ง พ่อแม่ปลาจะตามกลิ่นน้ำใหม่เข้ามาวางไข่และผสมพันธุ์กันในพื้นที่น้ำท่วมเหล่านี้ น้ำหลากในยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีสิ่งก่อสร้างอย่างถนน หรือการถมที่ขวางการไหลของน้ำ น้ำหลากในยุคที่ผู้คนยังไม่ลืมว่านี่คือธรรมชาติของที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ขนาดใหญ่ น้ำที่ไหลบ่ามาจะหนุนเนื่องทำให้น้ำไหลหลาก ไม่นิ่งขัง  น้ำจะไม่เสีย พืชยืนต้นจะไม่ตาย โรคจะไม่ระบาด และคนก็อยู่ร่วมกับน้ำได้ น้ำจะนำพาเอาตะกอนดิน เอาแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ไร่นา เอาปลามาให้กินถึงใต้ถุนบ้าน ก่อนที่น้ำจะค่อยๆแห้งลงช่วงนั้น ลูกปลาต่างๆจะตามน้ำกลับลงไปสู่แม่น้ำสายหลัก

            ช่วงนี้เองเป็นช่วงที่เหมาะในการรวบรวมพันธุ์ปลา สำหรับพวกกลุ่มปลากาแดงและทรงเครื่องนั้น คุณวิฑูรย์ เทียนรุ่งศรี ซึ่งทางบ้านทำกิจการค้าส่งปลาสวยงามในนามของบริษัทไวท์เครน อควาเรียม มายาวนานและในปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักกันดีในวงการปลาสวยงาม เล่าย้อนความหลังในยุคนั้นให้ฟังว่า ในช่วงต้นฤดูฝนหรือประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งเปิด  พอกลับมาจากโรงเรียน คุณวิฑูรย์ก็จะไปหาซื้อปลาพวกนี้กับคุณแม่ วิธีการจับในสมัยนั้น ใช้ฟางข้าวมัดเป็นกำใหญ่ๆ แล้วลอยไว้ตามทุ่งน้ำท่วม โดยโยงเชือกผูกหลักไว้ไม่ให้ไหลหนี ทิ้งไว้ไม่นานลูกปลาจะเข้าไปหลบอาศัยอยู่ ก็ใช้สวิงขนาดใหญ่ช้อนรวบขึ้นมาทั้งกอ ปลาที่ได้จะเป็นลูกปลาขนาดเล็กมาก คือตัวประมาณเมล็ดข้าวสาร ปะปนกันมาหลายชนิด แต่ปลาที่รับซื้อเป็นหลักจริงๆจะมีแค่ ๓ ชนิดคือ ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง และปลาลูกผึ้ง

            สำหรับ ๒ ชนิดแรกนั้นเป็นปลาราคาแพงในสมัยนั้น เรียกว่าขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารนี้ ราคาทั่วๆไปจะอยู่ที่ประมาณ ๑๐ สตางค์ ในปีใดที่มีน้อยๆ หรือในช่วงต้นและปลายฤดูราคาอาจขึ้นไปถึง ๒๕ สตางค์ ส่วนปลาขนาดใหญ่ที่มีขนาด ๒ นิ้วขึ้นไปนั้นในยุคหลังที่ปลาเริ่มมีน้อยในธรรมชาติตัวหนึ่งๆ อาจมีราคาสูงถึงตัวละ ๑๐ บาท ซึ่งนับว่าเป็นปลาที่แพงมากในสมัยเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ส่วนปลาลูกผึ้งนั้นเป็นปลาถูก ตวงขายกันเป็นกระป๋องนม แต่ก็ถือเป็นปลาหลักที่มีความต้องการมากเช่นกัน

            ในยุคที่ปลากาแดงและทรงเครื่องมีราคาแพงนั้น ปลาอีกชนิดที่หาได้ยากกว่าและมีราคาแพงกว่าก็คือปลาหางไหม้ ปลาชนิดนี้คุณวิฑูรย์เล่าว่ามีราคาเฉลี่ยประมาณ ๕๐ สตางค์ หรือในบางฤดูที่หายากอาจจะถึง ๑ บาท ปลาหางไหม้ จะมีฤดูกาลจับในช่วงปลายฤดูฝนในช่วงที่น้ำเริ่มลดลง หลังจากที่น้ำหลากท่วมทุ่ง ชาวประมงจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าลี่ เป็นการวางตาข่ายดักขวางทางไหลลงของน้ำ เพื่อดักปลาที่กำลังย้อนกลับลงสู่แม่น้ำสายหลัก นอกจากนั้นก็ยังจับปลาหางไหม้ด้วยอุปกรณ์จับปลาอื่นๆ เช่น ยอ ล้อมกร่ำ และโพงพาง โดยการประมงนี้เป็นการจับปลาเพื่อนำมากิน และทำการแยกปลาหางไหม้ไว้เพื่อขายเป็นปลาสวยงามเพิ่มมูลค่า ปลาที่จับได้ในช่วงนี้มีขนาดตั้งแต่ ๔ นิ้วขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ โดยปลาหางไหม้ขนาดประมาณ ๔ นิ้วนี่น่าจะเป็นปลาที่เกิดในต้นฤดูฝนของปีนั้นๆ

            อีกท่านที่เคยได้สัมผัสกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยคือ คุณลุงพิบูลย์ ประวิชัย ในวัย ๗๖ ปี ท่านเป็นหุ้นส่วนของบริษัท สมพงษ์ อควาเรียม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามของไทยในยุคเริ่มต้นเช่นกัน ลุงพิบูลย์ได้กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงแจ่มชัด เหมือนเรื่องราวเพิ่งเกิดมาไม่นานนักว่า เริ่มรวบรวมและส่งออกปลาหางไหม้ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๙๘ แต่ในปีแรกยังไม่ทราบแหล่งที่แน่นอนจึงได้ไม่เยอะนัก มาได้เป็นจำนวนมากก็ในปีถัดไป คือในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ที่ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ชาวประมงในแหล่งนี้ จะทำการกั้นลี่ในแม่น้ำป่าสัก เพื่อดักจับปลาที่จะลงมาหลังจากฤดูน้ำหลาก โดยแต่เดิมปลาหางไหม้จะถูกโยนทิ้งกลับลงแม่น้ำไปเนื่องจากมีรสขมทานไม่อร่อย บริษัทจึงเข้าไปรับซื้อปลาดังกล่าว เริ่มจากตัวละ ๑ บาท ในยุคที่ปลาอื่นๆกิโลกรัมละ ๑ บาท ซึ่งถือว่าให้ราคาดีมาก ในช่วง ๒-๓ ปีแรกนั้น บริษัทสมพงษ์ อควาเรียม ส่งออกปลาหางไหม้ปีละ ๗,๐๐๐ ถึง ๘,๐๐๐ ตัว โดยจะส่งเฉพาะปลาขนาดประมาณ ๓-๕ นิ้ว ใหญ่สุดไม่เกินหนึ่งคืบ ตัวขนาดใหญ่จะไม่รับซื้อเนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและอยากให้ชาว บ้านปล่อยปลาเหล่านี้ให้ไปสืบพันธุ์ต่อ  โดยตัวใหญ่ที่สุดที่จับได้นั้นมีขนาดประมาณ ๑๓ นิ้ว ซึ่งได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านหลายปี

            ในยุคนั้นคุณลุงพิบูลย์เล่าว่าเครื่องมือประมงชนิดล้างผล่านเริ่มมีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะพวกระเบิด ซึ่งทำให้ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลงมากและสำหรับปลาหางไหม้นั้นก็ลดจำนวนลงทุกปี จนกระทั่งปีสุดท้ายที่บริษัทฯได้ปลาหางไหม้จากธรรมชาติเพื่อส่งขายคือปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยในปีนั้นได้ปลาไม่ถึงร้อยตัว และในปีต่อๆมา ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็กลายเป็นปลาหายากที่จับกันได้ปีหนึ่งไม่กี่ตัว และหายไปในที่สุด

            ปัญหาของปลาหางไหม้อีกข้อคือพวกมันเป็นปลาที่เปราะบาง เกล็ดหลุด ครีบแตก และตกใจตื่นกลัวง่าย นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่กระโดดได้เก่งมาก (มีรายงานว่าปลาหางไหม้สามารถกระโดดได้สูงถึงสองเมตรจากผิวน้ำ)  สรุปคือพวกมันเป็นปลาที่มีอัตรารอดต่ำกว่าปลาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ จากปลานับหมื่นตัวที่ผ่านรังปลาไปนั้น คงมีอีกหลายเท่าที่ตายไปก่อนที่จะถึงมือผู้รับซื้อ ปลาหางไหม้จึงเป็นปลาที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับปลาอื่นๆ โดย ศาสตราจารย์ วิทย์ ธารชลานุกิจ ซึ่งคลุกคลีกับปลาสวยงามของไทยมายาวนาน ได้ให้ข้อมูลว่า ปลาหางไหม้ในตลาดปลาสวยงามของไทยนั้น ราคาขึ้นเร็วมาก เรียกว่าแทบจะขึ้นไปเท่าตัวในทุกๆปี เริ่มจาก ๒๕ สตางค์ เป็น ๕๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท ๑๐๐ บาทและในช่วงที่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยถูกยกสถานะให้เป็นปลาที่ใกล้สูญ พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น เศรษฐีนักสะสมปลาสมัยนั้น ซื้อ/ขายกันที่ราคากว่า ๒,๐๐๐ บาทเลยทีเดียว อาจารย์เปรียบเทียบว่า หางไหม้ในสมัยนั้นก็เหมือนปลาเสือตอในสมัยนี้ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเหลือน้อยมากในธรรมชาติแต่ก็ยังมีผ่านเข้ามาในตลาดปลาสวยงามบ้าง และขายกันในราคาที่สูงมาก

            ความเปราะและขี้ตกใจของปลาชนิดนี้ ไม่ได้อยู่แค่เพียงที่ขั้นตอนจับเท่านั้น ข้อมูลนี้ผู้เขียนได้มาจาก Max Gibbsเจ้าของร้านขายปลาสวยงามขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะอังกฤษ ซึ่งปีนี้มีอายุเกือบ ๗๐ ปีแล้ว ปู่แม๊กเล่าให้ฟังเกี่ยวกับปลาหางไหม้จากประเทศไทยที่เขานำเข้าในยุคเริ่ม แรกไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องแรก คือเขาจำได้แม่นยำว่าปลาหางไหม้จากประเทศไทยในยุคแรกนั้นเป็นปลาที่มีครีบสี เหลืองขลิบดำ ไม่ใช่ปลาครีบใสเหมือนในปัจจุบัน เขายังจำได้อีกว่าปลาที่ได้รับมักเป็นปลาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ คละขนาดกัน ไม่ได้ตัวเท่ากันหมดเหมือนในยุคนี้ และที่ปู่จำได้แม่นที่สุดคือปลาชนิดนี้ตายง่ายเหลือเกิน เขาเล่าว่า ในตอนแรกๆปลาที่นำเข้ามา มีอัตราตายสูงมาก ในตอนหลังเขาจึงพัฒนาวิธีขึ้นมา ซึ่งก็ได้เล่าให้ผมฟังคร่าวๆว่า เมื่อรับปลามาจากสนามบินแล้ว ต้องรีบนำมาไว้ในห้องมืด ปรับอุณหภูมิ เปิดไฟสลั่ว แล้วจึงค่อยๆเปิดถุง ถ่ายปลาลงภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วจึงค่อยๆหยดน้ำของที่ร้านลงไปทีละหยดๆ ในขณะเดียวกันก็ค่อยเปิดไฟให้สว่างขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าใช่เวลาเป็นวัน กว่าที่จะค่อยๆปรับปลาหางไหม้ในยุคนั้นให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของร้านและนำออกขายได้ ซึ่งปู่แม๊กบอกว่าเมื่อปรับตัวได้แล้ว ปลาหางไหม้ก็เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายชนิดหนึ่ง เขายังเล่าอีกว่า ในยุคนั้นปลาหางไหม้จากประเทศไทยไม่ได้มีส่งขายทั้งปี แต่จะมีมาเป็นฤดูกาลเท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย? 
            นั่นคือเรื่องเล่าเมื่อกว่า ๔๐  ปีที่แล้ว ข้อมูลที่ตรงกันอย่างหนึ่งของคนที่เคยเห็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็คือ ปลาชนิดนี้มีครีบสีเหลืองขลิบดำ (บางท่านบอกว่าเป็นสีแดงหมากสุกด้วยซ้ำ) ต่างจากปลาในยุคปัจจุบันที่เชื่อว่าเป็นปลาที่ได้มาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีฐานครีบใสหรือขาวขุ่นๆ คำถามที่น่าสนใจคือ เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย?  ทำไมพวกมันถึงหายไปกันหมด ทั้งจากในธรรมชาติและในที่เลี้ยง?

            จากการสอบถามชาวประมงรุ่นเก่าในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและข้อมูลจากรังปลาในยุคนั้น พวกเขาระบุว่าปลาหางไหม้ เริ่มมีน้อยลงหลังจากที่จับกันได้สัก ๕ –๑๐ ปี ในยุคที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วคือราวๆปีพ.ศ. ๒๕๑๐ บวก/ลบ ประมาณ ๕ ปี ที่น่าสนใจคือตอนที่จำนวนลดลง ปลาหางไหม้ไม่ได้ค่อยๆลด ไม่ได้จับได้น้อยลงเรื่อยๆ แต่ปลาลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบและหายไปจากสารบบอย่างน่าแปลกใจภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี

            เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้?  ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบนิเวศของปลาน้ำจืดอย่าง อ.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ บอกว่า ถ้าย้อนกลับไปดูยุคนั้น จะเห็นว่าเป็นยุคที่กำลังมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลักๆในประเทศไทยเกือบทุกสาย ทั้งปิง น่าน เจ้าพระยา แควน้อย แควใหญ่ และแม่กลอง การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยล้วนเกิดขึ้นในช่วง ระหว่างปี ๒๔๖๗ ถึงประมาณ ๒๕๒๘ (รายละเอียดตามตาราง)

            ในช่วงนั้น น้ำที่เคยหลากท่วมทุ่งกลับถูกกักไว้ในเขื่อน เมื่อขาดทุ่งน้ำท่วมปลาก็ขาดแหล่งทำรัง วางไข่ และ ขาดแหล่งอนุบาลของลูกปลาวัยอ่อน ปลาน้ำจืดของประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วงนั้น ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มปลาที่หายากมากในธรรมชาติของบ้านเราในปัจจุบัน เช่น  ปลากาแดง ทรงเครื่อง หมูอารี ซิวสมพงษ์ และหางไหม้  เมื่อปลาขนาดเล็กลดลง กลุ่มปลาล่าเหยื่อก็หายไป อย่างเช่นในลุ่มเจ้าพระยานั้น ปลาเทพา และ ปลาฝักพร้า ซึ่งเป็นปลาล่าเหยื่อ ได้หายไปจากลุ่มน้ำอย่างถาวร  ซึ่งสมมุติฐานนี้ก็ไปตรงกับข้อมูลในหนังสือ “ปลาไทย”ซึ่งเขียนโดย คุณวันเพ็ญ มีนกาญจน์ และตีพิมพ์โดยกรมประมงในปีพ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งเขียนไว้เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของปลาหางไหม้ว่า “หลังจากการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท (ในปีพ.ศ.๒๔๙๙) ปรากฏว่าปริมาณปลาหางไหม้ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงมาก จนถึงปัจจุบันไม่เคยปรากฏว่าพบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกเลย เข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว”

            อย่างไรก็ดี ดร. ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาไทยอีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า หากนำจำนวนตัวอย่างของปลาหางไหม้ในพิพิธภัณฑ์ของไทย เปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่นๆที่เก็บตัวอย่างในยุคเดียวกัน จะเห็นว่าตัวอย่างปลาหางไหม้มีอยู่น้อยมาก ซึ่งทำให้คาดเดาได้ว่าปลาหางไหม้นั้น แต่เดิมแม้แต่ในธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่น ก็เป็นปลาที่มีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่ปลาหางไหม้ อาจจะต้องการปัจจัยเฉพาะอะไรสักอย่าง ซึ่งมีอยู่น้อยในธรรมชาติเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ เมื่อมนุษย์ได้ทำลายตรงนั้นไปแล้ว ปลาหางไหม้ จึงไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป
           
อย่างไรก็ดีข้อมูลนี้ขัดกับข้อมูลที่ได้จากคุณลุงพิบูลย์ ประวิชัย ซึ่งระบุว่าปลาหางไหม้นับเป็นปลาที่มีมากชนิดหนึ่งในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ประมาณว่าในจำนวนปลาที่จับได้จากลี่จำนวน ๑๐๐ ตัวจะมีปลาหางไหม้ปนอยู่ถึง ๑๐ ตัว

            ที่น่าสนใจคือ แม้แต่หางไหม้ในประเทศอินโดนีเซียเอง ทั้งบนเกาะชวาและบอร์เนียวก็มีจำนวนลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยในลุ่มน้ำ  Batang Hari บนเกาะชวานั้นมีรายงานว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนในลุ่มน้ำ Danau Sentarum บนเกาะบอร์เนียวก็มีรายงานว่าเป็นปลาหายากและลดจำนวนลงอย่างมากมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน แต่จากรายงานระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าปลาลดจำนวนลงเนื่องจากการจับขายเพื่อเป็นปลาสวยงาม และการเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในปีเดียวกันนั้น ทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสียด้วย

            เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าเหตุใดการที่น้ำไม่ท่วมทุ่งหรือน้ำเสีย หรือปัจจัยใดที่มีผลกับปลาหางไหม้มากกว่ากัน หรือทำไมปัจจัยเหล่านี้จึงมีผลกับปลาหางไหม้มากกว่าปลาชนิดอื่นๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกมันมีวัฏจักรชีวิตที่ต้องพึ่งพาทุ่งน้ำท่วมมากกว่า ปลาชนิดอื่นๆ หรือมีความสามารถในการต้านทานน้ำเสียและสารเคมีน้อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ?  หรืออาจจะเป็นเพราะประชากรของปลาหางไหม้ในธรรมชาติแต่เดิมก็ไม่ได้มีมากมาย อะไรอยู่แล้ว และเมื่อถูกจับรวบรวมเป็นปลาสวยงามหลายๆปีติดต่อกัน ปลาจึงหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าจะลองคิดดูให้ดี ปลาที่หายากหรือสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบัน หลายชนิดเป็นปลาที่เคยถูกจับขายเป็นจำนวนมากในยุคก่อน เช่นปลากาแดง ทรงเครื่อง หมูอารี และหางไหม้? มองในอีกแง่หนึ่งหรือเป็นเพราะการจับปลาหางไหม้ในยุคนั้นเน้นการจับปลาที่ลง จากทุ่งน้ำท่วม เมื่อน้ำไม่ท่วม วิธีการจับที่เคยใช้ได้ผลมาหลายปีจึงไม่สามารถจับปลาหางไหม้ได้อีก?  หรือจริงๆแล้วหางไหม้ยังมีอยู่ แต่ในปัจจุบันเครื่องมือประมงที่สามารถจับหางไหม้ได้กลายเป็นเครื่องมือผิด กฏหมายไปหมดแล้วจึงไม่สามารถจับหางไหม้ได้อีก?  ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะสายไปแล้วที่จะหาคำตอบ

ปลาหางไหม้อินโดฯเข้ามาในประเทศไทยในยุคไหน?
            คำถามต่อมาก็คือ ในยุคที่ปลาในธรรมชาติกำลังลดจำนวนลง สวนทางกับความต้องการปลาสวยงามเหล่านี้จากประเทศไทยที่กำลังเพิ่มขึ้นนั้น อุตสาหกรรมการส่งออกปลาสวยงามในตอนนั้นปรับตัวอย่างไร?  สำหรับปลาหางไหม้ คุณวิฑูรย์ เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อปลาจากไทยเริ่มจับได้ลดลง ทางคุณพ่อจึงเริ่มขยับขยายหาปลาจากประเทศอื่นมาเสริม ซึ่งก็หาได้จากประเทศอินโดนีเซีย ในยุคนั้นประเทศไทยยังเปิดให้มีการนำเข้าและส่งออกปลาน้ำจืดอย่างเสรี การนำเข้าปลาจากต่างประเทศจึงทำได้โดยง่าย ซึ่งข้อดีอีกอย่างของปลาหางไหม้จากประเทศอินโดนีเซียก็คือ ปลาจากอินโดฯจะมีเข้ามาในช่วงที่ปลาในประเทศไทยขาดตลาดพอดี ซึ่งคงจะเป็นเพราะ ประเทศไทยนั้นอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร ฤดูกาลจึงตรงกันข้ามกันพอดี ฤดูจับจึงอยู่คนละช่วงเวลาของปี

            การปรับตัวของผู้ส่งออกในยุคนั้นอีกวิธีคือความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลาเหล่านี้ขึ้นเองในที่เลี้ยง ซึ่งในจังหวะที่ปลาในธรรมชาติกำลังลดลงนั้น เทคโนโลยีการผสมเทียมก็เข้ามาในบ้านเราพอดี จากข้อมูลที่มีอยู่ประเทศไทยประสพความสำเร็จในการผสมเทียมปลาครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งปลาชนิดแรกนั้นก็คือปลาสวาย ต่อมาจึงมีการนำเทคนิคดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับปลาสวยงาม ซึ่งคนแรกๆที่ทำสำเร็จก็คือ คุณสำรวย มีนกาญจน์ ซึ่งกรุณาให้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์  คุณสำรวยเล่าว่าเริ่มผสมเทียมพวก ปลากาแดง และทรงเครื่องในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ในยุคนั้น นอกจากจำนวนปลาที่ลดลงแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลากาแดงก็คือ การค้นพบปลากาแดงจากแหล่งนครพนม จากเดิมที่ปลากาแดงจะถูกจับจากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งปลาที่แม่กลองนี้จะมีลำตัวออกสีเทาและมีครีบและหางสีส้ม ในขณะที่ปลาจากนครพนมกลับมีลำตัวสีดำขลับและมีครีบและหางสีแดงเข้ม เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า แต่ปลากาแดงที่จับได้จากนครพนม มีขนาดใหญ่เกินกว่าความต้องการของตลาดและจับได้น้อย จึงเกิดความพยายามที่จะผสมเทียมปลากาแดงจากนครพนมขึ้นมาจนสำเร็จในที่สุด 

          คุณสำรวยเล่าว่า ในยุคที่เราเริ่มผสมเทียมปลาสวยงามได้นั้น ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็ลดจำนวนลงจนเกือบจะหมดไปอยู่แล้ว ประมาณว่าในยุคนั้นเหลือปลาสายพันธุ์ไทยแท้ๆ อยู่ในฟาร์มไม่เกิน ๑๐๐ ตัว และได้มีความพยายามที่จะผสมเทียมปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จ จนอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ประสพความสำเร็จในการผสมเทียมปลาหางไหม้จากประเทศ อินโดนีเซีย ในขณะที่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็ค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำ มารู้ตัวอีกทีพวกมันก็หมดไปเสียแล้ว
พบเพื่อพรากจา เพื่อไม่เจอ            เป็นเรื่องน่าเสียดายเหลือเกินที่เทคโนโลยีการผสมเทียมนั้นคลาดกับปลาหาง ไหม้สายพันธุ์ไทยไปเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง เพราะในทางวิชาการ ยังมีการพบตัวอย่างปลาหางไหม้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖  จากคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งนำคณะโดย อ.ประจิตร วงศ์รัตน และมีตัวอย่างจากแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม โดย ธงชัยและคณะ ในปีพ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใหม่ที่สุดของปลาหางไหม้ในประเทศไทยเท่าที่ผมค้นเจอ นอกนั้นตัวอย่างที่พบในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมประมง ส่วนใหญ่จะเป็นตัวอย่างยุคที่เก็บโดย ดร. Huge M. Smithชาวอเมริกัน เจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) คนแรกของเมืองไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลไทยและทำการสำรวจปลาไทยในหลายลุ่มน้ำ โดยตัวอย่างปลาหางไหม้ของ ดร.สมิท นั้นมีไล่ตั้งแต่แม่น้ำน่านช่วงก่อนถึงปากน้ำโพ ในจังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท และอยุธยา รวมไปถึงในแม่น้ำป่าสักบริเวณใต้เขื่อนพระราม ๖ (บางครั้งก็เรียกว่าเขื่อนท่าหลวง เนื่องจากตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าหลวง จังหวัดลพบุรี) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๖ –๒๔๖๘ และมีอีก ๒ ชุดซึ่งเก็บโดยนายโชติ สุวัตถิ เจ้าหน้าที่กรมประมง จากแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี และอยุธยา ในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ แต่ที่น่าสนใจและอยากจะเอ่ยถึงที่สุดคือในวิทยานิพนธ์ของคุณ สมเดช  ศรีโกมุท ซึ่งสำรวจปลาจากเครื่องมือประมงโพงพางเสาหลักในเขตจังหวัดอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ในรายงานฉบับนั้นมีปลาน้ำจืดที่หายากมากในปัจจุบันของประเทศไทยอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาหวีเกศ ปลายี่สกไทย และ ปลาหางไหม้ ถ้าใครเจอปลาทั้ง ๔ ชนิดในยุคนี้พร้อมกันในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนในวิทยานิพนธ์ คงได้ช๊อคสลบกันบ้าง เพราะในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปลาเสือตอลายใหญ่ จะมีรายงานบ้างปีสองปีได้ตัวหนึ่ง ถึงแม้ว่าปลายี่สกไทยจะยังพบบ้างในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและแม่โขง แต่ในลุ่มเจ้าพระยานั้นหายไปนานมากแล้ว และปลาที่หายไปเลยอย่างไม่หวนกลับไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำไหนในประเทศไทยก็คือ ปลาหวีเกศและปลาหางไหม้นอกจากรายงานและตัวอย่างทางวิชาการแล้ว รายงานการพบปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยตัวสุดท้ายนั้นเป็นของ

            คุณกิตติพงศ์ จารุธานินทร์ แห่งร้านแม่น้ำ ซึ่งค้าขายปลาจากธรรมชาติในประเทศไทยมาหลายสิบปี คุณกิตติพงศ์ เล่าให้ ผมฟังว่า ในสมัยเด็กๆ ปลาหางไหม้ตัวแรกที่เห็นนั้นอยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นปลาที่ขายอยู่ในร้าน ANA Supplyซึ่งเป็นร้านขายปลาใหญ่ อยู่แถวๆด้านตรงข้ามกับห้างมาบุญครองในปัจจุบัน ในตอนนั้นจำได้แม่นยำว่าปลาหางไหม้ราคาตัวละ ๑๐๐ บาท เป็นเงินที่เยอะมากสำหรับเด็กประธมในสมัยนั้น แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการพบปลาหางไหม้ตัวสุดท้าย ซึ่งคุณกิตติพงศ์เล่าว่า ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นช่วงที่ตระเวนจับปลาขนาดใหญ่เพื่อนำมาส่งให้กับบ่อตกปลาที่เปิดขึ้นเยอะมากในยุคนั้น วิธีการหนึ่งที่คุณกิตติพงศ์ใช้ในการหาปลา คือการเหมาบ่อหรือร่องสวนเก่าๆ เพื่อวิดน้ำแล้วนำปลาขนาดใหญ่ที่ค้างตามบ่อเหล่านั้นไปขาย และหนึ่งในจุดที่ได้ปลาเยอะก็คือ ตามร่องสวนส้มเก่าของเขตบางมด ซึ่งร่องสวนเหล่านี้จะมีการผันน้ำเข้ามาจากคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ในการผันน้ำหรือในกรณีที่เกิดน้ำท่วมนั้น ปลาจากแม่น้ำก็จะหลุดเข้ามาอาศัยและเติบโตอยู่ในร่องสวน โดยร่องสวนเหล่านี้มักจะมีปลาขนาดใหญ่ๆ โดยเฉพาะปลากระโห้ขนาดหลายสิบกิโล ซึ่งเป็นปลาที่เป็นเป้าหมายหลัก แต่ในการวิดน้ำครั้งหนึ่งในสวนส้มขนาดใหญ่ริมคลองราชบูรณะ ในปีพ.ศ. ๒๕๒๙ นั้นคุณกิตติพงศ์ จับได้ปลาหางไหม้ขนาดความยาวเกือบฟุตตัวหนึ่ง ซึ่งจากลักษณะที่บรรยายให้ฟังนั้น ตรงกับลักษณะปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย เป็นที่น่าเสียดายที่ปลาตัวดังกล่าวบอบช้ำมากจากการจับและตายลงในวันรุ่ง ขึ้น โดยที่คุณกิตติพงศ์ก็ไม่ได้ถ่ายภาพปลาตัวนั้นไว้ ถ้าหากปลาหางไหม้ตัวดังกล่าวเป็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยจริง ก็อาจจะเป็นปลาหางไหม้ตัวสุดท้ายที่มีรายงานของประเทศไทย  โดยเจ้าของสวนเล่าให้ฟังว่า มีความเป็นไปได้มากที่ปลาตัวดังกล่าวจะหลุดเข้ามาอาศัยอยู่ในร่องสวนตั้งแต่ ปีพ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งเป็นปีที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหลากท่วมรุนแรง  

หางไหม้ไทย กับ หางไหม้อิเหนา
            ที่ผ่านมาถึงแม้ปลาหางไหม้จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในประเทศไทย แต่ผมก็ยังใจชื้นที่ยังมีปลาที่นำมาจากประเทศอินโดนีเซียให้เรายังเพาะ เลี้ยงและขยายพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน แต่คำถามที่ยังคาใจก็คือ ตกลงปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย กับของประเทศอินโดนีเซียมันเป็นชนิดเดียวกันหรือเปล่า?  ข้อนี้นักมีนวิทยาชั้นแนวหน้าของไทยทุกท่านที่ผมได้มีโอกาศคุยด้วยยืนยันว่า “ต่างแน่นอน”

            ข้อแรก ในปลาขนาดใหญ่ปลาของไทยมีริมฝีปากที่หนา และมีปากบนทู่สั้นกว่าปลาจากประเทศอินโดนีเซีย
            ข้อสอง คือปลาของไทยมีขอบครีบสีเหลือง  และมีขอบสีดำบางกว่าปลาหางไหม้อิเหนา โดยเฉพาะที่ครีบท้อง ที่ปลาในยุคปัจจุบันบางตัวมีสีดำเกือบทั้งหมด ปลาหางไหม้จากไทยจะมีสีดำแค่ไม่เกินครึ่งของความกว้างครีบเท่านั้น

            เรื่องปากนั้นสามารถพิสูจน์ได้ด้วยรายงานและตัวอย่าง ซึ่งเท่าที่เห็นตัวอย่างขนาดใหญ่ก็เห็นว่ามีหน้าทู่สั้นกว่าจริงๆ แต่สี เป็นจุดที่ผมข้องใจที่สุด เพราะตัวอย่างปลาหางไหม้ของไทยที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้นก็เก่าเต็มทน ตัวปลาก็สีซีดไปตามกาลเวลา ภาพสีทีพอมียืนยันว่าเป็นปลาหางไหม้ไทยขณะยังมีชีวิตอยู่มีเพียงภาพเดียว ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ.๒๕๑๖ นั้นแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนพอสมควรว่าปลามีหางและครีบสีเหลือง นอกจากนั้นเกล็ดบริเวณหัวยังมีสีเหลืองอีกด้วย และอีกภาพคือภาพในหนังสือปลาไทย ซึ่งจัดพิมพ์โดย กรมประมง ในปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ภาพปลาหางไหม้ภาพนี้เก่าและเหลืองทั้งภาพ เลยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วปลาหางเหลืองด้วยหรือเปล่า ที่น่าสนใจคือภาพนี้ดูเก่ากว่าภาพอื่นๆในหนังสือเล่มเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นภาพเก่าของปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเช่นกัน และอีกจุดที่น่าสนใจคือปลาในภาพนี้ หน้าสั้นมู่ทู่ เหมือนกับในภาพวาดของ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) ช่างวาดภาพปลาในยุคเริ่มก่อตั้งกรมประมงผู้ช่วยของ ดร. สมิท ซึ่งวาดไว้ในช่วงปีพ.ศ.๒๔xxซึ่งมีหน้ามู่ทู่ ต่างจากปลาในยุคปัจจุบันค่อนข้างชัดเจน ซึ่งผู้เขียนเอง เห็นภาพปลาที่หลวงมัศยจิตรการวาดไว้ในคราวแรก ยังนึกแปลกใจว่าทำไมปลาหางไหม้ตัวนี้ถึงหน้ามนเหลือเกิน ตราบเมื่อมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายจึงพอจะเข้าใจ ซึ่งก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพถ่ายในหนังสือ “ปลาไทย”ดังกล่าวเป็นภาพเก่าของปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยหรือไม่ ที่น่าเสียดายคือ ผู้เขียนเข้าใจว่า ภาพต้นฉบับของหลวงมัศยจิตรการที่วาดปลาหางไหม้ไว้นั้น เป็นภาพสี แต่ที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ภาพปลา”ของกรมประมงที่จัดพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๔๙๓ และอีก ๔ ครั้งต่อมา รวมไปถึงเล่มที่พิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงมัศยจิตร การในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ นั้น กลับเป็นภาพขาวดำ จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพที่ลงสีไว้นั้นปลามีหางสีเหลืองหรือไม่ อันนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าภาพต้นฉบับ อยู่ที่ไหนสักแห่งในกรมประมง ถ้ามีใครอ่านบทความนี่แล้วพอจะทราบว่าภาพต้นฉบับอยู่ที่ไหน จะรบกวนแจ้งมาก็จักเป็นพระคุณยิ่ง

            แต่สีของหางปลา ใครที่เลี้ยงปลามานานก็รู้ว่ามันเปลี่ยนกันได้ โดยเฉพาะปลาจากธรรมชาติที่กินอาหารต่างจากปลาในที่เลี้ยง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต่างจากในที่เลี้ยง โอกาสที่จะมีหางหรือตัวสีเหลืองไม่ใช่เรื่องแปลก ดูอย่างปลาตะเพียนทองหรือปลาตะพาก ในธรรมชาติมีเกล็ดสีทองอร่าม แต่ในตู้เลี้ยงอย่างไรก็ไม่ได้สีทองแบบนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ว่าหางสีเหลืองของปลาหางไหม้ในยุคนั้นเป็นเพราะว่าเป็นปลาจากธรรมชาติมากกว่า เลี้ยงไปสักพักเดียวก็ใสๆขุ่นๆเหมือนปลาหางไหม้สมัยนี้  คนที่จะตอบได้ คือคนที่เคยเลี้ยงปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเป็นเวลานานๆ ผู้เขียนอีเมลไปถามปู่แม๊คที่อังกฤษอีกครั้ง ซึ่งปู่ก็ยืนยันว่าปลาหางไหม้จากไทย ไม่ได้หางเหลืองเฉพาะตอนที่เพิ่งส่งมาเท่านั้น แต่ยิ่งเลี้ยงยิ่งอยู่นานคุ้นตู้สภาพดีหางก็จะยิ่งเหลือง อีกท่านที่ยืนยันคือ คุณสำรวย มีนกาญจน์ ที่ยืนยันว่าหางไหม้สายพันธุ์ไทยนั้นมีหางและครีบเหลืองเหมือนปลาซิวควายหางไหม้(Rasbora tornieri)เลยเทียว

            เมื่อมีหลายท่านยืนยันว่าปลาหางไหม้ไทยมีหางสีเหลืองแบบนี้ ผู้เขียนจึงไปเดิมด้อมๆมองๆตามร้านขายปลาหวังใจว่าอาจจะเจอปลาที่มีหาง ครีบ และหัวเหลืองตามคำบอกเล่าตัวที่ใกล้เคียงว่า “เหลือง”ที่สุดก็คือตัวในภาพที่นำมาให้ชมกันนี่แหล่ะครับ ลองเปรียบเทียบดูกับปลาตัวสีธรรมดาในภาพเดียวกันจะเห็นว่าแตกต่างเห็นได้ชัดทีเดียว

            น่าเสียดายที่บทสรุปว่าปลาหางไหม้ไทยกับปลาหางไหม้จากประเทศอินโดนีเซียเป็นปลาคนละชนิดกันหรือไม่อย่างเป็นทางการนั้น กลับกลายเป็นผลงานของชาวสิงคโปร์และชาวสวิสไป โดยในเอกสารชื่อ Belantiocheilos ambusticauda,a new and possibly extinct species of cyprinid fish from Indochinaโดย Heok Hee Ng และ Maurice Kottelat นั้นได้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานของปลาหางไหม้ไทย ซึ่งรวมไปถึงปลาที่เคยมีรายงานพบในเขมร เวียตนาม ไทย และ มาเลเซีย ในส่วนที่เป็นทวีปใหญ่ โดยแยกลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาไทยกับปลาอิเหนาจากเกาะบอร์เนียวและสุมาตรา จากความแตกต่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่ให้กับปลาหางไหม้ของไทยว่า Balantiocheilos ambusticauda  ชื่อวิทยาศาสตร์นี้เป็นภาษาลาติน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “หางไหม้”เช่นกัน  ในขณะที่ปลาหางไหม้จากทางอินโดนีเซียนั้นก็ยังใช้ชื่อเดิมคือ B. melanopterus ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาหางไหม้ที่ใช่กันมาแต่ดั้งเดิม

            เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วที่ผมเคย(หลง)ดีใจว่าปลาหางไหม้ยังไม่สูญพันธุ์ก็เป็นอันว่าดีใจเก้อไป เพราะปลาในที่เลี้ยงที่มีอยู่เยอะแยะมากมายในปัจจุบันกลับเป็นปลาจากทางอินโดฯเสียหมด(หรือเปล่า?) ในขณะที่ปลาในธรรมชาติของประเทศไทยนั้นก็ไม่พบมานานเต็มทนแล้ว
 
ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(อินโดจีน)สูญพันธุ์ไปแล้วจริงหรือ?             อ่านมาถึงตรงนี้ผมมั่นใจว่านี่คำถามที่กำลังเกิดขึ้นในใจของทุกคน ถ้าจะหากันจริงๆ  ที่แรกก็คือในตู้ของพวกเรานี่   แหล่ะ เป็นไปได้หรือไม่ ที่มีบางฟาร์มใช่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเป็นพ่อแม่พันธุ์มาแต่ดั้งเดิม?  รบกวนท่านผู้อ่านลองหาดูถี่ ว่ามีหางไหม้จากฟาร์มไหนที่มีหน้าทู่ๆหางเหลืองๆหรือไม่ อีกแหล่งก็คือในธรรมชาติ แหล่งน้ำที่ยังอาจจะมีปลาหางไหม้เหลืออยู่ก็คือ

            ๑. ประเทศเขมรในตงเลสาป หรือทะเลสาปเขมรนั้น เป็นแหล่งที่มีปลาน้ำจืดชนิดใกล้เคียงกับปลาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก และยังเคยมีรายงานพบปลาหางไหม้ด้วยในอดีต ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีรายงานที่ยืนยันของปลาชนิดนี้ แต่เราต้องยอมรับว่า สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำในฝั่งประเทศเขมรนั้นยังมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าในประเทศไทยมาก จึงยังมีหวังว่า ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งใต้ทะเลสาปเขมรยังมีปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(อินโดจีน) ซ่อนอยู่
            ๒. ประเทศเวียตนาม มีรายงานที่ไม่ยืนยันจากแม่น้ำไซง่อน และแม่น้ำโขงตอนล่าง เมื่อเร็วๆนี้เอง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการพบปลา หรือเป็นการอ้างอิงต่อมาจากข้อมูลเก่า
            ๓.  อีกแห่งที่เคยมีรายงานพบปลาหางไหม้(มีตัวอย่างขนาดใหญ่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และมีชนิดปลาใกล้เคียงกับปลาน้ำจืดในลุ่มแม่น้ำแม่กลองของไทยคือแม่น้ำปาหัง ในประเทศมาเลเซีย แม่น้ำแห่งนี้ถึงแม้จะอยู่ใต้ลงไปในคาบสมุทรมลายูแต่ก็มีพันธุ์ปลาน้ำจืด ใกล้เคียงกับลุ่มน้ำแม่กลองอย่างน่าประหลาดใจ เช่น ปลายี่สกไทย ปลาตะเพียนสมพงษ์ และ ปลาหางไหม้ ผู้เขียนเข้าใจว่าสภาพธรรมชาติในแม่น้ำปาหังยังดีอยู่พอสมควร เพราะเพื่อนที่ไปเที่ยวเมื่อ ๒ ปีที่แล้วยังเห็นมีการจับปลายี่สกไทยเพื่อเป็นอาหารขายกันในตลาดอยู่ ซึ่งแสดงว่าสภาพแม่น้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ความหวังว่าจะมีปลาหางไหม้ของอินโดจีนเหลืออยู่จึงเป็นไปได้เช่นกัน
            ๔. ในลุ่มน้ำยมที่จังหวัดสุโขทัย ลุ่มน้ำใหญ่สายเดียวของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่กั้นนั้น ก็ยังเป็นแหล่งที่มีน้ำท่วมทุ่งอยู่มาก และเป็นแหล่งที่ยังมีการทำการประมงปลาน้ำจืดกันอยู่มากเช่นกัน เป็นไปได้ไหมที่ปลาหางไหม้อาจจะยังเหลืออยู่ แต่ด้วยเครื่องมือประมงที่เปลี่ยนไป เช่น โพงพางลี่ และกร่ำในปัจจุบันเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฏหมายทำให้ไม่สามารถจับปลาหางไหม้ ได้ และหรืออาจจะมีการจับได้บ้างแต่ขาดการสำรวจจากนักวิชาการจึงไม่มีรายงานปลาหางไหม้ในยุคปัจจุบัน?
            ๕. แม่น้ำแม่กลอง ชาวประมงท้องถิ่นบางคนยังบอกว่าจับปลาหางไหม้ขนาดใหญ่ได้นานๆที แต่ไม่ได้สนใจเนื่องจากคิดว่าเป็นปลาหางไหม้เหมือนกับตามฟาร์ม น่าสนใจว่าปลาที่จับได้นั้นเป็นปลาเพาะ(ปลาจากประเทศอินโดนีเซีย)ที่หลุดลงไป หรือเป็นปลาหางไหม้ดั้งเดิมของไทย ผู้เขียนยังไม่เห็นตัวอย่างจึงยังไม่กล้าสรุป

            เรื่องนี้ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่ตามหาหางไหม้สายพันธุ์ไทยที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่ที่ไหนสักแห่งเท่านั้น แต่ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม บ้านของปลา ให้คงอยู่ต่อไป  ที่ผ่านมาเราโชคดีมาก ที่การพัฒนาแหล่งน้ำในประเทศไทยโดยไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น ทำให้ปลาสูญพันธุ์ไปเพียงไม่กี่ชนิด แต่โครงการแล้วโครงการเล่าที่ถาโถมลงสู่แหล่งน้ำ ก็ทำให้ปลาใช้น้ำเป็นบ้านได้ยากขึ้นทุกวัน

            เรื่องราวของปลาหางไหม้ที่บันทึกไว้ในคราวนี้ เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ที่ผมดีใจที่ได้มีโอกาสจารึกไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำของคนในยุคนั้น ผมอยากให้มันเป็นบทเรียนที่สอนให้เรารู้ว่าธรรมชาติเปราะบางและเข้าใจยาก เกินกว่าที่มนุษย์สักคนจะอธิบายได้ ผมหวังว่าเราคงได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของผู้ คนในยุคปัจจุบันที่การรุกรานธรรมชาติรุนแรงกว่าในอดีตมากมายนัก วันนี้อาจจะสายไปเสียแล้วสำหรับปลาหางไหม้ แต่กับปลาน้ำจืดอื่นๆที่ยังเหลืออยู่ พวกเขาก็กำลังนับถอยหลังอยู่เช่นกัน

            ผมหวังว่าผมหรือรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ต้องมีใครมานั่งเขียนเรื่องราวแบบนี้ ถึงปลาไทยชนิดอื่นๆอีก


ภาพปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(Belantiocheilos ambusticauda) จากหนังสือเก่าของประเทศนอร์เวย์ ภาพนี้น่าจะเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดของหางไหม้พันธุ์ไทยที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ภาพปลาหางไหม้วาดโดยหลวงมัศยจิตรการ ในช่วงปีพ.ศ.๒๔๕๐ บวกลบประมาณ ๑๐ ปี แสดงลักษณะปลาหางไหม้ไทยว่ามีหน้าสั้นทู่อย่างชัดเจน

ภาพปลาหางไหม้จากหนังสือ“ปลาไทย” ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมประมงในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ภาพนี้เหลืองเก่ากว่าภาพอื่นๆในหนังสือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาพนี้เป็นภาพปลาหางไหม้เก่าเก็บมาจากยุคก่อน ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือปลาตัวในภาพมีปากสั้นทู่คล้ายภาพวาดของหลวงมัศยจิตรการ
ภาพปลาหางไหม้ ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ.๒๕๑๖
ตัวอย่างปลาหางไหม้ไทยจาก พิพิธภัณฑ์ ม.เกษตรศาสตร์
ฉลากข้างขวด
ปลาหางไหม้สายพันธุ์จากประเทศอินโดนีเซีย (B. melanopterus) ที่มีขายในตลาดปลาสวยงามบ้านเราในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.vcharkarn.com/varticle/42274

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น